Follow us on

กองทุนกำลังใจฯ

19 มี.ค. 2563
17มี.ค.63 พระเจ้าลูกเธอฯ พระราชทานเครื่องมือแพทย์ฯ ณ สมุทรปราการ
เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานเครื่องมือแพทย์ตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้กับเรือนจำกลางสมุทรปราการ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางบางขวาง และทัณฑสถานหญิงกลาง สำหรับการเสด็จแทนพระองค์ ณ เรือนจำกลางสมุทรปราการ ในวันนี้ ทรงพระราชทานเครื่องมือแพทย์ แก่ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรปราการ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางบางขวาง และทัณฑสถานหญิงกลาง พระราชทานรถเอกซเรย์เคลื่อนที่แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี พระราชทานหนังสือเพื่อใส่ในมุมสุขภาพราชทัณฑ์ปันสุข พระราชทานวีดีทัศน์แก่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ พระราชทานเจลพระราชจากโครงการส่วนพระองค์ แก่หัวหน้าสถานพยาบาลเรือนจำกลางสมุทรปราการ พระราชทานของที่ระลึกให้ผู้แทนและผู้สนับสนุนโครงการฯ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข ในสถานพยาบาล พระราชทานถุงพระราชทานให้กับผู้ต้องขังป่วย ผู้ต้องขังชรา และพิการ
ในส่วนของสถานการณ์ของผู้ต้องขังเจ็บป่วย เรือนจำกลางสมุทรปราการ มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น ๗,๘๕๗ คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมจำนวน ๓๕๔ คน เรือนจำกลางคลองเปรม มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น ๗,๓๕๔ คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ๘๗๐ คน เรือนจำกลางบางขวาง มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น ๕,๘๑๖ คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ๓๔๓ คน และทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น ๕,๐๐๘ คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมจำนวน ๔๔๒ คน เรือนจำกลางสมุทรปราการเป็นเรือนจำที่มีความหนาแน่นเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ มีนักโทษอยู่ ๗,๘๕๗ คน เทียบเท่า ๑ ตำบล แต่ที่มีปัญหาคือเรื่องสุขภาพอนามัย เนื่องจากบุคลากรการแพทย์ในเรือนจำมีเพียง ๖ คน โดย ๑ คนต้องดูแลผู้ต้องขังประมาณ ๑,๓๐๐ คน แต่อย่างไรก็ตามจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีทรงพระราชทานให้ดำเนินการตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข จึงทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาจัดระบบต่างๆ ในเรื่องสุขภาพให้ผู้ต้องขัง เช่น การลงทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลทางระบบออนไลน์ให้กับผู้ต้องขัง โรงพยาบาลบางบ่อ เข้ามาตรวจ คัดกรองสุขภาพให้กับผู้ต้องขัง มีการดูแลทางด้านทันตกรรมทุกสัปดาห์ มีศูนย์เอ็กซเรย์เคลื่อนที่ มีงานอนามัยแม่และเด็ก การส่งเสริมป้องกันโรค คลินิก HIV ซึ่งส่งผลให้ผู้ต้องขังได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง การอบรมอาชีพที่ทำให้เพิ่มรายได้และนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางจิตใจ จนเกิดเป็นโมเดลพัฒนาคุณภาพชีวิต ‘ผู้ต้องขัง’ สุขภาพดี ซึ่งทำให้เรือนจำกลางสมุทรปราการ ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรภาคีระหว่างประเทศ สำหรับแขกรัฐบาลที่ให้ความสนใจจาก ๒๖ ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓นอกจากนี้ในโรงพยาบาลบางบ่อซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำกลางสมุทรปราการที่แม้จะเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอแต่ด้วยความมุ่งมั่นของผู้บริหารและคณะเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรวมทั้งการทำงานในเชิงรุกและการทำงานในเชิงป้องกันจึงทำให้สามารถที่จะรับมือกับจำนวนผู้ต้องขังที่มีจำนวนมากได้เป็นอย่างดี อีกทั้งโรงพยาบาลบางบ่อมีการแบ่งพื้นที่ในโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่สำหรับการดูแลผู้ต้องขังที่ต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ต้องมาเฝ้าผู้ต้องขัง ณ โรงพยาบาล
บางบ่อตลอด ๒๔ ชั่วโมง จึงทำให้ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นกัน
จากการดำเนินโครงการตั้งแต่เปิดโครงการจนถึงปัจจุบันได้มีการประเมินผลการทำงานโดยนักประเมินผลภายนอกซึ่งในเบื้องต้นพบว่าเรือนจำและโรงพยาบาลมีการพัฒนางานในระบบของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก รวมทั้งเกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เรือนจำ/โรงพยาบาลร่วมมือกันเพื่อดูแลผู้ต้องขัง รวมทั้งในเรือนจำบางแห่งมีการพัฒนางานไปมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ในระยะที่ ๑ ของโครงการกล่าวคือ มีการพัฒนาในเรื่องของระบบสุขาภิบาลในเรือนจำ มีการทำงานในเชิงของการป้องกันโรคในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งการดำเนินโครงการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบต่อการทำงานในแวดวงสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรมอย่างสูง แต่อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานยังพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังบางประการ เช่น พบภาวะที่ผู้ต้องขังเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรังที่มีพฤติกรรมมาจากการบริโภคอาหารหวาน การไม่ได้ออกกำลังกายที่เพียงพอ ความคิดของเรื่องสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังต้องไม่ตกเป็นภาระของเจ้าหน้าที่พยาบาลแต่คนเดียว เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

รูปภาพประกอบ

โครงการกำลังใจ
ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
เลขที่ 404 กระทรวงยุติธรรม ชั้น 8 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ : 0 2142 0852
Copyright © 2016 โครงการกำลังใจ.All right reserved