ผู้หญิงในเรือนจำ: ความต่าง...ช่องว่าง...และแนวทางแก้ไข
ผู้หญิงในเรือนจำ: ช่องว่าง ที่ถูกมองข้าม
ปัญหาผู้หญิงในเรือนจำ หรือผู้ต้องขังหญิงนั้นไม่ได้เป็นปัญหาแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ผลการวิจัยโดย International Center for Prison Studies มหาวิทยาลัย King’s College ในลอนดอน เมื่อปี 2549 พบว่า ประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากที่สุด 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 183,000 คน สาธารณรัฐประชาชนจีน 71,280 คน รัสเซีย 55,400 คน และไทย 28,450 คน ซึ่งจำนวนผู้ต้องขังหญิงไม่เพียงแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในจำนวนที่น่าตกใจ แต่ยังมีอัตราส่วนของการเพิ่มสูงกว่าจำนวนของผู้ต้องขังชายอีกด้วยอย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญกว่าจำนวนของผู้ต้องขังหญิงคือการที่ผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเหล่านี้ถูกส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำซึ่งส่วนใหญ่ได้ออกแบบไว้สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องขังชายเป็นหลัก หรือในสถานที่ซึ่งแม้จะกำหนดไว้ว่าเป็นสถานที่สำหรับผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ แต่ก็มิได้ออกแบบมาอย่างเหมาะสมสำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องขังหญิง กล่าวคือ ไม่ได้มีการออกแบบหรือจัดให้มีสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องขังหญิงที่มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจากผู้ต้องขังชายแต่อย่างใดรวมทั้งผู้ต้องขังหญิงไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการแก้ไขฟื้นฟู หรือการฝึกวิชาชีพที่จัดโดยเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ส่งผลให้เกิดมีปัญหาที่ผู้ต้องขังหญิงต้องเผชิญหลายประการ นอกจากนี้ กฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่มักไม่สอดคล้องเหมาะสมกับการบริหารจัดการผู้ต้องขังหญิง ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ต้องขังทั้งในส่วนของผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งหน่วยงาน/องค์กรต่างๆทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ต้องขังในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และสิทธิมนุษยชน
สำหรับระเบียบปฏิบัติและข้อเสนอแนะระดับนานาชาติที่มีอยู่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เช่น มาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเบื้องต้นในการบริหารงานเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังนั้น ก็พบว่ามีการกำหนดเพียงสั้นๆ ถึงหลักปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงไว้อย่างกว้างๆ และไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากยังคงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมมีการเลือกปฏิบัติ และมีการฝ่าฝืนหลักสิทธิมนุษยชนทั้งด้านสิทธิสตรีและด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ผู้หญิงติดคุก ...ทุกข์อยู่ที่ไหน ?
จากการสำรวจปัญหา และความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในเบื้องต้นและรายงานการศึกษาเกี่ยวกับปัญหา และความต้องการของผู้ต้องขังหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายแห่งพบว่า ปัญหาหลักๆ ที่ผู้ต้องขังหญิงต้องเผชิญอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) ปัญหาด้านความไม่เหมาะสมของสถานที่คุมขัง และบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังหญิง จากการศึกษาพบว่า ผู้ต้องขังหญิงมักจะได้รับการคุมขังในสถานที่ที่ห่างไกลจากบ้านและครอบครัวมากกว่าผู้ต้องขังชาย อันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีเรือนจำสำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องขังหญิงน้อยกว่าเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังชาย ระยะทางที่ห่างไกลดังกล่าวนี้ทำผู้ต้องขังหญิงมีความยากลำบากที่จะรักษาการติดต่อกับครอบครัวและบุตร เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และโดยข้อจำกัดของสถานะทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ต้องขังได้รับการเยี่ยมจากครอบครัวน้อย ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบทั้งต่อผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการขาดการติดต่อที่เพียงพอกับบุตรและสมาชิกครอบครัว ทำให้ผู้ต้องขังหญิงเกิดความวิตกกังวล และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก นอกจากปัญหานี้แล้ว บ่อยครั้งยังพบว่า ผู้ต้องขังหญิงถูกคุมขังไว้ในเรือนจำที่ออกแบบมาสำหรับผู้ต้องขังชาย ซึ่งมีการวางกฎระเบียบที่เข้มงวดและไม่อนุญาตให้มีการติดต่อกับโลกภายนอก หรือถูกควบคุมในเรือนจำความมั่นคงสูงแทนที่จะเป็นเรือนจำความมั่นคงต่อทั้งๆ ที่พวกเธอถูกจำแนกลักษณะว่าเป็นผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงต่อการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหญิงที่ผิดพลาดนี้ส่งผลต่อประสบการณ์ของการต้องโทษจำคุกในทุกๆ ด้าน รวมทั้งอิสรภาพในการเคลื่อนไหว ความถี่และประเภทของการติดต่อที่มีต่อบุตรและสมาชิกครอบครัว และโอกาสในการศึกษาและฝึกวิชาชีพที่อาจได้รับด้วย
2) ปัญหาด้านการไม่ตระหนักถึงความต้องการที่แตกต่างของผู้ต้องขังหญิงทำให้ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ขาด หรือได้รับบริการหรือสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงทั่วไปไม่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งทางกายและทางจิต เนื่องจากระบบอนามัยและการดูแลสุขภาพของเรือนจำได้รับการออกแบบเพื่อผู้ชายและให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชาย ดังนั้น การรักษาพยาบาลทางนรีเวชวิทยา เช่น การตรวจหามะเร็งเต้านม จึงเป็นบริการที่หาได้ยากยิ่งในเรือนจำ และนอกเหนือจากบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้วผู้ต้องขังหญิงมักมีความต้องการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน วัยทองหรือสุขภาพทางเพศ ความต้องการเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงนี้จะต้องได้รับความเอาใจใส่จากพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาทางด้านสุขอนามัยสตรีเป็นการเฉพาะ ซึ่งรวมทั้งนรีเวชวิทยาด้วย อย่างไรก็ดีผลการศึกษาเกี่ยวกับผู้ต้องขังส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า การให้การดูแลสุขภาพในเรือนจำไม่ได้มีความตระหนักถึงความต้องการของผู้ต้องขังหญิงที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้แต่อย่างใด ดังจะได้เห็นจากการที่ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์มักขาด หรือได้รับบริการรักษาพยาบาลก่อนและหลังคลอด รวมทั้งการดูแลทารกไม่เพียงพอขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับการคลอดและการดูแลบุตร และการเตรียมการแยกทารกแรกเกิดจากแม่หลังการคลอดมีน้อยมากหรือไม่มีเลย ในขณะที่ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นแม่ถูกแยกจากบุตรเนื่องจากเรือนจำส่วนใหญ่ไม่มีสถานที่เฉพาะหรือสถานที่ส่วนตัวสำหรับให้เด็กเข้าเยี่ยมแม่ซึ่งถูกคุมขัง ทำให้แม่ที่ต้องขังต้องทนทุกข์ทรมานทางจิตใจและยังมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก
นอกจากนี้ เรือนจำส่วนใหญ่ยังมิได้จัดให้มีบริการเป็นพิเศษสำหรับผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาทางจิต ผู้ต้องขังหญิงวัยทอง หรือผู้ที่มีประวัติทางการแพทย์เกี่ยวกับนรีเวช เช่น มะเร็งเต้านม รวมทั้งผู้ต้องขังหญิงที่เป็นเยาวชนก็ไม่สามารถเข้า ถึงการบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม และมีการตระหนักเพียงเล็กน้อยถึงความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศที่เยาวชนเหล่านั้นอาจได้เผชิญก่อนที่จะต้องโทษจำคุก ทั้งยังมักขาดโอกาสทางการศึกษาหรือการฝึกวิชาชีพหรือสวัสดิการอื่น ๆ ที่น้อยกว่า เนื่องจากการจัดการดังกล่าวส่วนใหญ่จัดไว้ให้แก่ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้ต้องขังเยาวชนชาย ในขณะที่ผู้ต้องขังหญิงที่มีความบกพร่องทางกายและ/หรือทางจิต ก็มักไม่ได้รับความเอาใจใส่ด้านที่พักอุปกรณ์ หรือสถานที่ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้พิการ หรือการได้รับยามากหรือน้อยเกินไปในกรณีของผู้มีความบกพร่องทางจิต ตลอดจนไม่มีการให้คำปรึกษาหรือแก้ไขฟื้นฟูทางจิตแต่อย่างใด ทำให้ในหลายประเทศมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นที่น่าตกใจของผู้ต้องขังหญิงที่ทนทุกข์จากปัญหาสุขภาพจิต เช่น การเก็บกดวิตกจริต อาการหวาดกลัว การตื่นกลัว การมีหลายบุคลิก และการฆ่าตัวตายและเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าสถานการณ์ทั่วไป หรือแม้แต่สถานการณ์ของผู้ต้องขังชายและยังคงมีผู้ต้องขังหญิงกลุ่มอื่นๆ ที่มีความต้องการที่แตกต่างที่ต้องการได้รับการตอบสนอง เช่น ผู้ต้องขังหญิงชาวต่างชาติ และผู้ต้องขังหญิงชนเผ่าที่อาจมีความยากลำบากในการเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมทั้งขาดการติดต่อครอบครัว รวมทั้งผู้ต้องขังหญิงที่ถูกคุมขังในพื้นที่ติดอาวุธที่มีความขัดแย้งก็มักมีแนวโน้มที่จะได้รับการส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำที่อยู่ห่างไกลและออกแบบไว้สำหรับผู้ชาย ทำให้ไม่ได้รับความเป็นส่วนตัว ไม่มีความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับเพศ ได้รับการเยี่ยมน้อยครั้ง และถูกกีดกันจากความช่วยเหลือทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจจากบุคคลอันเป็นที่รัก นอกจากนี้ ยังต้องทนทุกข์จากการเลือกปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งนับเป็นการบั่นทอนสิทธิสตรีและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้
3) ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ซึ่งนับเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิสตรี โดยจากการศึกษาพบว่าผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่มักตกเป็นเหยื่อของการละเมิดและความรุนแรงทางเพศการตรวจค้นที่เป็นการล่วงละเมิด การกีดกันมิให้เข้าถึงโปรแกรมการศึกษา การแก้ไขฟื้นฟู การฝึกวิชาชีพที่จำเป็นสำหรับปรับตัวเข้าสู่สังคม ซึ่งรวมถึงโปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและความช่วยเหลือหลังปล่อยตัว หรือแม้ในบางกรณีที่ผู้ต้องขังหญิงสามารถเข้าถึงโปรแกรมการเตรียมความพร้อมและความช่วยเหลือหลังปล่อยตัวเหล่านี้ โปรแกรมส่วนใหญ่ก็มักมิได้ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิง หรือมิได้คำนึงถึงเงื่อนไขของครอบครัวแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีแม่ที่เป็นเสาหลักหรือเป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนแต่เพียงผู้เดียว
สู่ความเป็นธรรมสำหรับผู้ต้องขังหญิง : ข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการสำหรับหน่วยงานภาครัฐ และตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ
จากการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ทำให้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปเรือนจำเพื่อให้มีความเหมาะสมกับผู้ต้องขังหญิงอย่างไรก็ดี การปฏิรูปเรือนจำอาจมิใช่แนวทางเดียว หรือแนวทางที่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากต้องเผชิญ หากแต่รัฐจะต้อง 1) หาทางเลือกทดแทนการจำคุกผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้หญิง 2) หากจำเป็นจะต้องลงโทษจำคุก จะต้องมีการวางแผนการสำหรับผู้ต้องขังหญิงนับตั้งแต่วันแรกที่ถูกพิพากษาให้เข้าเรือนจำเพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่า พวกเธอจะไม่กระทำความผิดซ้ำหลังพ้นโทษ ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต้องสูงเพิ่มขึ้นอีก และ 3) จัดหาวิธีการและดำเนินการสนับสนุนให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวให้เข้าสังคมได้หลังพ้นโทษ และหากยังไม่ประสบความสำเร็จในการส่งอดีตผู้ต้องขังให้กลมกลืนเข้ากับสังคมได้ ก็จะต้องมีการจัดทำแผนสำรองหรือแผนฉุกเฉินเพื่อตอบสนองต่อปัญหาด้วยวิธีการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญและแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานที่มิใช่ภาครัฐและองค์กรอาสาสมัครที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติโดยอาจจำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น การเสนอให้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม (Further Recommendations) สำหรับมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เพื่อส่งเสริมให้มาตรฐานนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นที่น่ายินดีที่หลายๆ ประเทศในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลกได้มีความตระหนักถึงปัญหาของผู้ต้องขังหญิงและเริ่มมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อการดูแลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ต้องขังหญิง เช่น ในยุโรป ระบบเรือนจำของประเทศเยอรมันเป็นต้นแบบด้านการเยี่ยมของครอบครัวและการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ต้องขังตั้งครรภ์ สำหรับในเอเชียก็มีเรือนจำของประเทศเยเมน ซึ่งไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนผู้ต้องขังหญิงในด้านการศึกษาและการฝึกวิชาชีพแต่ยังสนับสนุนโอกาสความก้าวหน้าให้แก่ผู้ต้องขังด้วย ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีตัวอย่างของการปฏิบัติที่ดีด้านการให้ความช่วยเหลือหลังปล่อยซึ่งดำเนินการโดยความร่วมมือของ NGO และหน่วยงานเอกชนของทัณฑสถานชุมชน Duval ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่หลังพ้นโทษของผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งศูนย์ Elizabeth Fry ในซานฟรานซิสโก ที่ให้ความสำคัญกับอดีตผู้ต้องขังหญิงที่เป็นแม่และลูกของพวกเธอด้วย
ELFI แสงแห่งความหวังของผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก
ความแตกต่างทางกายภาพของหญิงและชายนั้นมีมากมาย ด้วยกรอบของประเพณีและความคาดหวังของสังคม ผู้หญิงจึงถูกกำหนดให้ต้องทำหน้าที่หลายบทบาท จนหลายคนคิดว่าเป็นภาระที่น่าเหน็ดเหนื่อย แต่หากเปรียบความลำบากที่ผู้หญิงหลายคนคิดว่าตัวเองเผชิญอยู่คงเทียบไม่ได้กับความลำบากที่ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต้องประสบโดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และผู้ต้องขังที่ต้องเลี้ยงลูกในเรือนจำ จริงอยู่ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้กระทำความผิดจึงต้องโทษให้อยู่ในเรือนจำ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดเรื่องความสะดวกสบาย แต่ผู้ที่ก้าวพลาดก็สมควรได้รับการให้โอกาสจากสังคมเพื่อจะลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งและควรได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับประเทศไทยนั้น นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่งในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ได้ทรงริเริ่มโครงการ “กำลังใจ” เพื่อประทานความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังระหว่างต้องโทษจำคุกและเมื่อปล่อยตัวโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคราชการ ซึ่งขั้นตอนต่อไปในการดำเนินการโครงการนี้ คือ การสร้างบรรทัดฐาน/แนวทางการปฏิบัติ (Road Map) เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง นอกเหนือจากเรื่องสวัสดิการและสถานที่คุมขัง ที่จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติและการผลักดันให้มีข้อเสนอแนะสำหรับมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงสืบต่อไปตามแนวพระดำริโครงการ ELFI หรือ Enhancing Lives of Female Inmates ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปอย่างมีระบบและยั่งยืน
โครงการ ELFI เป็นโครงการระดับนานาชาติ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก เนื่องจากข้อกำหนดสำหรับผู้ต้องขังเดิมนั้นใช้กันมากว่า 50 ปี แล้ว จึงไม่เอื้ออำนวยต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง
โครงการ ELFI
การนำผลงานโครงการกำลังใจออกเผยแพร่สู่สายตานานาประเทศเป็นครั้งแรกที่กรุงเวียนนา เมื่อปี 2551 ทำให้ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากผู้แทนประเทศต่างๆ เป็นอย่างยิ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงมีพระดำริให้ประเทศไทยพิจารณาเสริมสร้างความตระหนักระหว่างประเทศตลอดจนปรับปรุงมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นการเฉพาะ จึงได้ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือ ELFI ซึ่งย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Enhancing Lives of Female Inmates เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552
ในการดำเนินโครงการ ELFI ในพระดำริฯ กระทรวงยุติธรรมได้จัดประชุมโต๊ะกลมสำหรับผู้เชี่ยวชาญ (Expert Roundtable Meeting) เพื่อระดมสมองในการยกร่างข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2-4กุมภาพันธ์ 2552 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านราชทัณฑ์จากประเทศต่างๆองค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผลของการประชุม คือ การจัดทำ “Draft United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders” เพื่อเป็นการเพิ่มเติม “ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ” ปี ค.ศ. 1955 (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners, 1955)
ในโอกาสต่อมาพระเจ้าหลานเธอฯ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยได้เสด็จเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) สมัยที่ 18 ซึ่งจัด ขึ้น ณ สำนัก งานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อวันที่ 16 - 24 เมษายน 2552 เพื่อนนำเสนอโครงการ ELFI และร่างข้อกำหนดฯ ซึ่งพระเจ้าหลานเธอฯ ทรงมีพระดำรัสในพิธีเปิดการประชุมที่เกี่ยวกับโครงการ ELFI โดยมีความบางตอนดังนี้
“...แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ต้องขังหญิงก็มักจะเป็นผู้ที่ถูกละเลยในทัณฑสถาน ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ค.ศ. 1955 ครอบคลุมถึงการดูแลนักโทษทั้งหมดโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับว่าข้อกำหนดดังกล่าวมิได้คำนึงถึงความต้องการจำเพาะของผู้ต้องขังหญิงเท่าที่ควร...”
พระดำรัสพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการ
ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 18
จากนั้น พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงเปิดนิทรรศการโครงการ ELFI ร่วมกับ นาย Antonio Maria Costa ผู้อำนวยการบริหาร สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมหรือ UNODC และยังทรงเข้าร่วมการพิจารณาร่างข้อมติที่เสนอโดยประเทศไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งได้รับรองจากที่ประชุมโดยฉันทามติ และมีประเทศที่ขอร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติ ได้แก่ บราซิล สาธารณรัฐเช็กในนามสหภาพยุโรป สหรัฐ อเมริกา แคนาดาญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ โคลอมเบีย เวเนซูเอลา แอฟริกาใต้ และซูดาน
โครงสร้างของข้อกำหนดกรุงเทพฯ
ข้อกำหนดฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้เป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง สำหรับเรือนจำเป็นการเฉพาะ อาทิ เรื่องสุขอนามัย ความเปราะบางของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ การดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง ฯลฯ โดยแบ่งโครงสร้างออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อกำหนดทั่วไป (Rules of General Application) ว่าด้วยการบริหารจัดการเรือนจำโดยทั่วไป และใช้กับผู้กระทำความผิดเพศหญิงที่อยู่ในระหว่างการควบคุมทุกประเภท ทุกสถานะคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา รวมไปถึงผู้หญิงที่ถูกควบคุมด้วยมาตรการเพื่อความปลอดภัยหรือมาตรการกักกัน
ส่วนที่ 2 ข้อกำหนดที่ใช้สำหรับผู้ต้องขังลักษณะพิเศษ (Rules Applicable to Special Categories) ว่าด้วยการจำแนกลักษณะ และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในแต่ละประเภท อาทิ ผู้ต้องขังที่เคยเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย ชนเผ่า ฯลฯ
ส่วนที่ 3 มาตรการที่มิใช่การคุมขัง (Non-custodial Measures) ว่าด้วยมาตรการบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดหญิงที่กระทำความผิดไม่รุนแรง ประกอบกับมีปัจจัยทางกายภาพที่ไม่เหมาะกับการถูกคุมขัง เช่น เยาวชนหญิง และผู้กระทำความผิดที่ตั้งครรภ์ โดยข้อกำหนดในส่วนนี้สามารถใช้บังคับได้ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน จนกระทั่งหลังมีคำพิพากษา
ส่วนที่ 4 การวิจัย การวางแผน การประเมินผล และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน (Research, Planning, Evaluation and Public Awareness Raising) ว่าด้วยการวิเคราะห์วิจัยถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำความผิดในกลุ่มผู้หญิง รวมถึงการศึกษาผลกระทบจากการถูกคุมขังที่มีต่อผู้ต้องขังและบุตร นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการกำหนดกิจกรรมที่จะลดการกระทำความผิดซ้ำ อันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งคนดีกลับคืนสู่สังคม ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวนี้จะต้องมีการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยอาศัยความร่วมมือจากบรรดาสื่อสารมวลชน
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงนำเสนอโครงการ ELFI ในเวทีสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จไปยังสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 ในภูมิภาคแอฟริกา โดยมีนายอาคิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี เฝ้ารับเสด็จ ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ ฯ ทรงมีพระปฏิสันถารเกี่ยวกับการเสด็จเยือนทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก และความสนพระทัยในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี นอกจากนี้ยังทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับการจัดทำโครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือ Enhancing Lives of Female Inmates : ELFI (การดูแลผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง) จากนั้นทรงเข้าร่วมการประชุม และทรงมีพระดำรัสต่อที่ประชุมเตรียมการฯ เกี่ยวกับความสำคัญของโครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือ “ELFI” เพื่อผลักดันร่างข้อกำหนดฯ ดังกล่าวให้ที่ประชุมยอมรับและเห็นชอบร่วมกัน และนำผลการประชุมไปนำเสนอในเวทีระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทรงประชุมสิทธิมนุษยชน ณ นครเจนีวา
ต่อมาวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2552 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปยังสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เพื่อทรงร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 12 โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ 1 ใน 7 องค์กรหลักที่อยู่ภายใต้ระบบสหประชาชาติ ได้รับการจัดตั้งตามข้อมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยที่ 60 เมื่อปี 2549 แทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเดิม เพื่อพัฒนากลไกสิทธิมนุษยชนสำหรับเป็นกรอบการดำเนินงาน และตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการลดจำนวนประเทศสมาชิกลงจากเดิม 53 ประเทศ เหลือ 47 ประเทศกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการหารือใน 7 ช่วงหลัก อาทิ การรายงานของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ โดยมีผู้แทนระดับสูงกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ได้แก่ พระเจ้าหลานเธอฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริหารจัดการภัยพิบัติและสิทธิมนุษยชนของศรีลังกา และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านองค์การระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำรัสถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง หรือ เอลฟี่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในกระบวนการยุติธรรมและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษย์ชน ดังนี้
“In respect, I wish to bring to the attention of the Council the project called “Enhancing Lives of Female Inmates” or “ELFI”. It aims at calibrating United Nations standards and norms for the better treatment of women in prison. Thailand undertook to develop the “Draft United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders”. The open-ended intergovernmental expert group meeting to be held in Bangkok in November this year will open the way for the tangibility in this regard.”

คำแปล “ข้าพเจ้าขอนำเสนอต่อที่ประชุมถึงโครงการ “Enhancing Lives of Female Inmates” หรือ เอลฟี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นมาตรฐานของสหประชาชาติในการปรับปรุงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้ดีขึ้น โดยประเทศไทยได้ร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง สำหรับผู้กระทำความผิดหญิงและจะมีการจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงเทพมหานครในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ซึ่งจะเป็นการปูทางให้มีการพัฒนาร่างข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม”
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระดำรัสถึงการที่ประเทศไทยสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักลำดับต้นๆ ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียน และระหว่างประเทศ เช่น การสนับสนุนการจัดตั้งกลไกUniversal Periodic Review หรือ ยูพีอาร์ (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะมีการทบทวน และประเมินงานด้านสิทธิมนุษยชนของสมาชิกสหประชาชาติ 192 ประเทศอย่างเท่าเทียมกัน โดยในส่วนของประเทศไทยกำหนดให้มีการทบทวนและประเมินในปลายปี 2554 นอกจากนี้ ทรงกล่าวถึงการที่ประเทศไทยจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ในปี 2553 โดยมีวาระ 3 ปี ระหว่างปี 2553 ถึง 2556 และในท้ายสุดทรงเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักเรื่องการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง โดยมีใจความสำคัญว่า

“From the First Crime Congress held in Geneva in 1955 to its twelfth session to be held in Salvador, Brazil next year, the link between the respect for human rights and the rule of law has never been more evident. But we must recognize that gender sensitivity is the new rule of the game. After all, the road towards enhancing the lives of female inmates is a test of our political will. We must work together to ensure that the future of women prisoners can be brighter.”
คำแปล“นับตั้งแต่การประชุมอาชญากรรมครั้งแรกที่นครเจนีวา เมื่อปีค.ศ. 1955 จนถึงการประชุมสมัยที่ 12 ที่จะจัดขึ้นที่เมืองซัลวาดอร์ ประเทศบราซิล ในปีหน้า ความเชื่อมโยงกันระหว่างเรื่องสิทธิมนุษยชน กับหลักนิติธรรมเป็นประเด็นที่มีความชัดเจนมาโดยตลอด ทั้งนี้พวกเราต้องตระหนักว่า ความแตกต่างระหว่างเพศ คือ ประเด็นใหม่ที่จะต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากหนทางของ84 โครงการกำลังใจและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาการไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ต้องขังหญิง คือ บททดสอบความมุ่งมั่นของพวกเรา จึงต้องร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงมีอนาคตที่สดใส”
หลังจากนั้นได้ทรงเปิดนิทรรศการ “Inspiring Women’s Rights in Prison” ร่วมกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้แทนของสำนักงานสหประชาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม และสำนักข่าวจากประเทศต่างๆ ที่ประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับนิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อให้นานาประเทศตระหนักถึงกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำโดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิง
นับตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติด้านอาชญากรรมครั้งแรกที่นครเจนีวา เมื่อปี ค.ศ. 1955 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงพระเจ้าหลานเธอฯ ทรงตระหนักถึงกลุ่มผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันจึงทรงมีพระดำริจัดทำโครงการกำลังใจในปี 2549 เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ตระหนักว่ายังมีผู้ที่เต็มใจให้โอกาสโดยต้องรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย ซึ่งจะช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำซ้อน และกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมได้ จากการดำเนินงาน 3 ปี มีการจัดกิจกรรม อาทิ การอบรมให้ความรู้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ในการเตรียมตัวให้กำเนิดและเลี้ยงดูทารกรวมทั้งฝึกอาชีพ จากความสำเร็จของโครงการกำลังใจ จึงทรงนำไปเผยแพร่ให้นานาประเทศรู้จักคำว่า “กำลังใจ” ซึ่งหมายถึง น้ำใจที่มนุษยชาติพึงมีให้ต่อกัน และประทานชื่อภาษาอังกฤษว่า Inspire หมายถึงทุกคนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันได้ และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงมีพระดำริให้เกิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ทุกประเทศควรคำนึงถึง และเกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้ต้องขังหญิง หรือ เอลฟี่ ในปี 2551 เพื่อผลักดันร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับปัจจัยขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอและเหมาะสม เพื่อไม่เป็นการลงโทษซ้ำจากสังคม และสามารถกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ต่อไป
ทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษในกิจกรรมคู่ขนาน ELFI
จากนั้นวันอังคารที่ 15 กันยายน 2552 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษในกิจกรรมคู่ขนาน Enhancing Lives of Female Inmates (ELFI) ซึ่งคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จัดขึ้นในระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 12 ในโอกาสนี้ทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษ โดยทรงมีพระดำรัสถึงกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่มักถูกลืมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยไม่ได้รับการปฏิบัติ และตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานในความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิงเท่าที่ควร จึงทรงมีพระดำริให้จัดทำโครงการกำลังใจ นอกจากนี้ ยังทรงตระหนักว่ายังไม่มีมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงเป็นการเฉพาะ จึงเป็นแรงบันดาลพระทัยให้ทรงมีพระดำริเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก โดยมีใจความสำคัญดังนี้
“When Thailand presented our project at the 17th session of the Commission on Crime Prevention and Criminal Justice in Vienna last year, this triggered our critical thoughts on the subject. Apparently, we have come to recognize that there is a gender gap in the 1955 Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners or the SMR. Adopted more than 50 years ago, the SMR may not necessarily keep up with developments in our fast changing world. Surely, they do not draw sufficient attention to the specific needs of women prisoners. However, this is not a problem for Thailand alone. Many countries in the world are all struggling to cope with how to approach the issue of the treatment of women prisoners in the most effective way. As this group of prison population has increased worldwide, it is imperative that we bring more clarity to considerations that apply to their treatment.”

คำแปล “ในโอกาสที่ประเทศไทยนำเสนอโครงการกำลังใจในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาสมัยที่ 17 ที่กรุงเวียนนา เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเราตระหนักว่า ยังคงมีช่องว่างในข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ปี ค.ศ. 1955 หรือ เอสเอ็มอาร์ ที่มีการใช้มากว่า 50 ปี จึงไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกได้ และไม่มีข้อกำหนดเฉพาะที่จะตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังหญิงอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทย แต่นานาประเทศทั่วโลกต่างพยายามปรับปรุงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และโดยที่กลุ่มผู้ต้องขังหญิงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่พวกเราต้องพิจารณาประเด็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น”
ทรงมีพระดำรัสในการประชุมสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศ (ICPA)
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงร่วมพิธีเปิด และทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 (International Corrections and Prisons Association: ICPA) ณ โรงแรมฮิลตัน กรุงบริดจ์ทาวน์ ประเทศ
บาร์เบโดส โดยในการประชุมนี้ สมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ประเทศบาร์เบโดส จัดการประชุมขึ้นเพื่อให้ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์ ตลอดจนผู้สนใจได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และแสวงหาแนวทางปฏิบัติในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินงานเรือนจำรวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง พระเจ้าหลานเธอฯ ในฐานะทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษก็ได้ทรงมีพระดำรัสในหัวข้อ “New Horizons in the Treatment of Women Offenders” เพื่อนนำเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง หรือ เอลฟี่ (ELFI) โดยข้อเสนอของประเทศไทยเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง ให้นานาประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็นเพศที่มีความอ่อนไหว และแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย เนื่องจากข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำในปี ค.ศ. 1955 (The 1955 United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners : SMR) ยังไม่มีข้อกำหนดเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงอย่างเพียงพอ
สมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสูงสุด President’s Award
จากนั้นวันที่ 28 ตุลาคม 2552 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศ หรือ ICPA ครั้งที่ 11 โดยสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศ หรือ ICPA พิจารณามอบรางวัลให้แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นสนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมฯ ที่มุ่งสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ และความเป็นมืออาชีพของผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ราชทัณฑ์ทั่วโลก เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และแสดงความชื่นชมยินดี โดยรางวัลสูงสุดได้แก่ รางวัล President’s Award ประจำปี 2552 ซึ่งสมาคมฯ ขอทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าหลานเธอฯ โดยทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับรางวัลนี้ ในฐานะทรงปฏิบัติพระภารกิจเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งนับตั้งแต่ทรงสำเร็จการศึกษา ทรงมีพระปณิธานที่จะประทานความช่วยเหลือ เนื่องจากทรงตระหนักถึงความลำบากของผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง จึงทรงริเริ่มโครงการกำลังใจในปี 2549 เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ตระหนักว่ายังมีผู้ที่เต็มใจให้โอกาส พร้อมทั้งเอาใจช่วยให้สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมได้ โดยโปรดฯให้วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ในหลักสูตร

การตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ และสร้างคนดีเริ่มที่ขวบปีแรก ซึ่งนับเป็นหลักสูตรต้นแบบของการอบรมผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ในทัณฑสถาน และเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพรวมถึงดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังหญิงสูงอายุจากความสำเร็จของโครงการกำลังใจในการดูแลผู้ต้องขังหญิง และเด็กติดผู้ต้องขังในประเทศไทย จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง หรือ เอลฟี่ (ELFI) ในปี 2551 เพื่อให้นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง โดยจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง โดยมีการนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และนำมาแก้ไขเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ทุกประเทศสามารถพัฒนาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงได้อย่างเพียงพอ และเหมาะสม โอกาสนี้ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล President’s
Award ประจำปี 2552 จากนายโทนี่ คาเมรอน (Tony Cameron) ประธานสมาคมฯ และทรงมีพระดำรัสตอบขอบใจในโอกาสนี้ด้วย ความว่า

“รางวัลนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นมิติใหม่ในการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังหญิง และยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติต่อสตรีอย่างละมุนละม่อมในแง่มุมของงานราชทัณฑ์ ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยจึงได้นำเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง หรือเอลฟี่ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่าพลังสนับสนุนจากนานาชาตินี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนเปลงอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างบรรทัดฐานใหม่ในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งต่อสมาคมไอซีพีเอ และมวลสมาชิกที่ได้แสดงให้เห็นว่าจะร่วมสนับสนุนข้อเสนอของประเทศไทยในร่างข้อกำหนดฯ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราจะเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกเพื่อพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต”
ทรงนำเสนอโครงการ ELFI ต่อที่ประชุม ASC
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาได้ทรงร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมประจำปีของสมาคมอาชญาวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เอเอสซี (The American Society of Criminology : ASC)ครั้งที่ 61 ซึ่งเป็นเวทีทางวิชาการ เพื่อการแลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้ทางอาชญาวิทยา เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงนักศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญาวิทยา และนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุมในหัวข้อ “Criminology and Criminal Justice Policy” ระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2552 โดยโอกาสนี้ได้ทรงมีพระดำรัสในหัวข้อ “Standard Minimum Rules for the Treatment of Women in Prison : A United Nations Effort that Effects all Prisons” โดยทรงนำเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง หรือ เอลฟี่ (ELFI) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และแสวงหาแนวร่วมสนับสนุนข้อเสนอของประเทศไทยในกรอบสหประชาชาติต่อไป โดยได้ทรงกล่าวถึงปัญหาของจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่มีเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ และเหมาะสมจึงทรงมีพระดำริที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง และเด็กติดผู้ต้องขังให้สามารถดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้หลังพ้นโทษ ความตอนหนึ่งว่า
“ประเทศไทยไม่ได้กล่าวอ้างว่าจะเป็นต้นแบบของแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ประสบผลสำเร็จ เพราะไทยเองยังคงมีช่องว่างที่จะต้องปรับปรุงต่อไป โครงการกำลังใจจึงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถส่งเสริมแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางด้านเพศเพื่อผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยได้และข้าพเจ้ามีความเชื่อในคุณค่าของการแสดงภาวะผู้นำด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี” ทุกๆ ประเทศสามารถมีส่วนในการพัฒนาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำของประเทศตนให้ดีขึ้นได้ แต่การจะผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องมีการจัดทำมาตรฐาน และบรรทัดฐานระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ในประเด็นดังกล่าว” …
“ในขั้นตอนต่อไป สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมจะร่วมกับประเทศไทยจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เพื่อเจรจาเนื้อหาของร่างข้อกำหนดฯ ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 พฤศจิกายน 2552 หากหาข้อสรุปในตัวร่างข้อกำหนดฯ ได้ ประเทศไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาสมัยที่ 12 ณ เมืองซัลวาดอร์ ประเทศบราซิล ในเดือนเมษายน ปี 2553 และเมื่อถึงจุดนั้น ประเทศไทยจะได้แสวงหาฐานเสียงสนับสนุนระหว่างประเทศต่อร่างข้อกำหนดฯ เพื่อประกันว่าร่างข้อกำหนดฯ นี้จะได้รับการผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้มีการรับรองอย่างเป็นทางการในปีเดียวกันต่อไป”
การประชุมประจำปีของสมาคมอาชญาวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือเอเอสซี (The American Society of Criminology : ASC) ในหัวข้อ “Criminology and Criminal Justice Policy” ครั้งนี้ มีเนื้อหาหลัก อาทิ ด้านราชทัณฑ์และการลงโทษ, ด้านอาชญาวิทยาระหว่างประเทศ ตลอดจนด้านผู้หญิงและการก่ออาชญากรรม มีการประชุมกลุ่มย่อยกว่า 600 เรื่อง โดยอาชญากรรมนับเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศ และมีลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน อาชญาวิทยาจึงมีส่วนสำคัญในการศึกษาถึงสาเหตุ รวมทั้งการป้องกัน และแก้ไขอาชญากรรม ตลอดจนการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด โดยมีหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาลและราชทัณฑ์ และจำเป็นต้องพัฒนานโยบาย และแนวทางปฏิบัติ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่าย รวมถึงให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดี และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข
โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอฯ ได้ทรงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดหญิงที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ บางประเทศแม้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยก็นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษด้วยการจำคุก แต่ในหลายประเทศนิยมใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังในเรือนจำ เพื่ออบรมแก้ไขผู้กระทำความผิดแทนการลงโทษ เช่น คุมความประพฤติ, รอการลงอาญา และทำงานสาธารณะ ในส่วนของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงก็เช่นเดียวกันที่ในหลายประเทศมักให้ความสำคัญกับการลดอัตราผู้กระทำความผิดซ้ำในฐานะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ของนโยบายราชทัณ ฑ ์ หากแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับการใช้มาตรฐาน และบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง จึงควรมีการใช้นโยบายปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างสมดุลมากกว่าที่เป็นอยู่
ปรับปรุงร่างข้อกำหนดฯ (Revising the Draft Rules)
เมื่อวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2552 ประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อเจรจายกร่างข้อกำหนดฯ และตกลงร่วมกันที่จะใช้ชื่อเรียกเอกสารฉบับนี้ว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” หรือ “The Bangkok Rules” เพื่อเป็นการสะท้อนบทบาทนำของประเทศในการผลักดันบรรทัดฐานระหว่างประเทศในเรื่องนี้
สู่สมัชชาสหประชาชาติ (Towards the United Nations General Assembly)
ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 (Twelfth United Nations Congress on Crime Prevention and Crimianal Justice) ที่เมืองชัลวาดอร์ ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 12-19 เมษายน 2553 ที่ประชุมได้เจรจาและรับรองปฎิญญาชัลวาดอร์ (Salvador Declarartion) อันเป็นเจตนารมณ์ทางการเมือง และวิสัยทัศน์ของประเทศสมาชิกในเรื่องดังกล่าวในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้มีการกล่าวสนับสนุนข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในย่อหน้าที่ 50 ของปฏิญญาฯ
การดำเนินงานโครงการ ELFI ในขั้นตอนสุดท้าย คือ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 (65th United Nations General Assembly-UNGA) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะเป็นเวทีที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบและรับรอง Bangkok Rules อย่างเป็นทางการ โดยในครั้งนี้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเข้าร่วมการประชุม UNGA สมัยที่ 65 และทรงเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการของโครงการ ELFI ในหัวข้อ “Standard Minimum Rules: A New Horizon for Women Prisoners” โดยมีนาย Ban Ki-Moon เลขาธิการสหประชาชาติร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีดังกล่าว
สู่ความสำเร็จ (Success of ELFI)

ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 (65th United Nations General Assembly - UNGA) ก็ได้ให้ความเห็นชอบข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders (the Bangkok Rules))
การต่อยอดความสำเร็จของโครงการ ELFI

โครงการ ELFI เป็นการดำเนินการทางการทูตเชิงรุกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่สามารถออกไปแสดงบทบาทนำ (Leading Role) จนสามารถผลักดันให้ Bangkok Rules กลายเป็นหนึ่งในกฎหมายของโลกได้เป็นผลสำเร็จ จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนที่มีเจ้าหญิงนักกฎหมายที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพ ทรงเป็นประทีปนำทางให้กับกระบวนการยุติธรรมของไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีข้อกำหนดกรุงเทพฯ เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีกระบวนการและกิจกรรมอีกมากที่ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลักดันข้อกำหนดนี้จะแสดงบทบาทนำอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ ELFI โดยการนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการผลักดัน (Implementation of Bangkok Rules) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงมาตรฐานในส่วนของประเทศไทยเอง และในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง
(United Nations rules for the treatment of women prisoners and non-custodial measures for women offenders : THE BANGKOK RULES)
ข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) กับการสร้างความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อวันที่ 22-23 มกราคม 2554 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จทรงเป็นองค์ประธานการสัมมนาโครงการ “การประชุมปฏิบัติการสร้างความเข้าใจและสร้างเครือข่ายโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ณ ห้องประชุมโรงแรมบันดาหยา เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลพร้อมกันนี้ทรงนำผู้เข้าร่วมสัมมนา วิทยากร ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงาน
อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เข้าศึกษาประวัติของคุกตะรุเตา ณ อ่าวตะโละวาว อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยทรงมีพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้มาพบทีมงานกำลังใจที่ได้มาสัมมนาร่วมกันในวันนี้ ซึ่งจะได้ปรึกษาหารือในเรื่องงานกำลังใจ และข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ซึ่งในเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพฯ เราได้ร่วมกันผลักดันและต่อสู้ในเวที
สหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยจะได้นำข้อกำหนดนี้มาใช้ประโยชน์ในงานราชทัณฑ์ให้สมกับชื่อ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงของไทยเรา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อกำหนดกรุงเทพฯ จะสร้างประโยชน์ให้กับงานราชทัณฑ์ของประเทศไทย ผลงานสิ่งนี้เป็นสมบัติของราชทัณฑ์โดยแท้ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความภูมิใจในหน่วยงานราชทัณฑ์ให้มีผลงานที่โดดเด่นเห็นได้ชัดมากขึ้นในสายตาของสังคมโลกของประเทศไทย และในสายตาของหน่วยงานราชการอื่นๆเป็นที่ทราบกันดีว่างานราชทัณฑ์เป็นงานที่มีความสำคัญและเป็นงานที่อยู่ในกระบวนการสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่อบรม แก้ไขปรับปรุงคนที่กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคมให้เป็นคนดี ซึ่งถือเป็นงานที่เหนื่อย และยาก ข้อกำหนดกรุงเทพฯ
นี้อาจจะเป็นตัวหนึ่งซึ่งกระตุ้นให้ต้องทำ หรือผู้ทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ถูกสังคมหลงลืมมากจนเกินไปพอๆกับที่ผู้ต้องขังก็จะไม่ถูกหลงลืมเช่นกัน ข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในรายข้อต่างๆ นั้น บางข้อกรมราชทัณฑ์ได้ทำไว้อยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอะไรที่เราทำไว้ไม่ได้ล้าหลัง ไม่ได้ไม่มีเกียรติ หรือไม่ได้ทัดเทียมกับต่างประเทศแต่อย่างใด และเราพบว่าราชทัณฑ์ไม่ว่าที่ใดในโลกก็จะประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การขาดแคลนงบประมาณ บุคลากร มีจำนวนผู้ต้องขังมากทำให้การทำงานไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ข้อกำหนดกรุงเทพฯ เกิดจากการที่เราได้นำเสนอปัญหาให้สหประชาชาติรับฟังว่าเป็นปัญหาที่สำคัญจริงๆ และทุกคนจึงได้มาร่วมกันเสนอความคิด แล้วที่เรามาร่วมสัมมนาในวันนี้เพื่อจะได้ร่วมกันคิดต่อไปว่าข้อกำหนดนี้จะมีสิ่งใดที่ทำได้ สิ่งที่ต้องปรับปรุง และมีสิ่งใดที่เป็นข้อติดขัด จึงอยากให้ทุกท่านร่วมกันให้ความคิดเห็น”
พระดำรัส พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ในการสัมมนา ณ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
22 มกราคม 2554

คำแปลของข้อกำหนดกรุงเทพฯ
1. |
เพื่อที่จะให้หลักการการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งประกอบอยู่ในข้อกำหนด 6 ของเอสเอ็มอาร์ (the SMR) ได้มีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ จะต้องพิจารณาถึงความต้องการอันเด่นชัดของผู้ต้องขังหญิงในการใช้บังคับข้อกำหนดนี้ โดยการจัดความต้องการเหล่านั้นให้ผู้ต้องขังหญิงจะต้องไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ |
2. |
1. ต้องให้ความสนใจที่เพียงพอต่อขั้นตอนการรับตัวหญิงและเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากความเปราะบางของพวกเธอในเวลานั้น ผู้ต้องขังหญิงซึ่งมาถึงใหม่ต้องได้รับโอกาสในการติดต่อญาติ ให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ข้อกำหนดและกฎของเรือนจำวิธีการบริหารของเรือนจำ และสถานที่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อต้องการและในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ ต้องมีโอกาสติดต่อผู้แทนทางกงสุลด้วย
2. ก่อนที่จะมีการรับตัว หญิงซึ่งมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบุตรจะต้องได้รับอนุญาตให้ได้รับการระงับการคุมขังชั่วคราวเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับเด็กเมื่อใดก็ตามหากเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก |
3. |
1. หมายเลขและข้อมูลส่วนตัวของเด็กติดผู้ต้องขังจะต้องได้รับการบันทึกไว้ในเวลาที่รับตัวหญิงเข้ามา บันทึกดังกล่าวอย่างน้อยควรประกอบด้วยชื่อของเด็ก อายุ และหากไม่ได้ติดตามมารดามา ถิ่นที่อยู่ และสถานะของการปกครองหรือการเป็นผู้ปกครอง
2. ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัวของเด็กต้องเก็บเป็นความลับและการใช้ข้อมูลเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก |
4. |
ผู้ต้องขังหญิงต้องถูกจัดสรรให้เข้าอยู่ในเรือนจำซึ่งใกล้กับบ้านหรือสถานที่บำบัดและแก้ไขฟื้นฟู โดยคำนึงถึงหน้าที่ในการดูแลที่ผู้ต้องขังหญิงต้องรับผิดชอบและความพึงพอใจของหญิงแต่ละคน และการมีอยู่ของโครงการและการบริการที่เหมาะสม |
5. |
เรือนจำและห้องขังของผู้ต้องขังหญิงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งของซึ่งตรงต่อความต้องการด้านสุขอนามัยของหญิงโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยรวมถึงผ้าเช็ดตัวที่สะอาด และการจัดส่งน้ำ ดื่มอย่างสม่ำ เสมอให้เพียงพอสำหรับต่อการดูแลเด็กและหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงซึ่งทำอาหารตั้งครรภ์ ให้นมบุตรหรือมีประจำเดือน |
6. |
การตรวจสุขภาพผู้ต้องขังหญิงเมื่อแรกเข้าจะต้องรวมถึงการตรวจที่ครอบคลุมเพื่อกำหนดความต้องการทางการแพทย์เบื้องต้น รวมถึงเพื่อกำหนด :
(i) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) และขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง ผู้ต้องขังหญิงอาจได้รับข้อเสนอให้รับการทดสอบการติดเชื้อเอดส์โดยความสมัครใจ โดยได้รับการให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังทดสอบ
(ii) ความต้องการการเยียวยาทางด้านประสาท ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง
(iii) ประวัติสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์ของผู้ต้องขังหญิง รวมถึงการตั้งครรภ์ทั้งในปัจจุบันและในอดีต การคลอดบุตร และปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์
(iv) การพึงพิงการใช้ยา และ
(v) การล่วงละเมิดทางเพศและการกระทำความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งผู้ต้องขังหญิงอาจเคยประสบมาก่อนที่จะเข้ามาในเรือนจำ |
7. |
1. ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ตรวจพบร่องรอยของการกระทำล่วงละเมิดทางเพศหรือการกระทำความรุนแรงในรูปแบบอื่นซึ่งเกิดก่อนการรับตัว ให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์แจ้งต่อผู้ต้องขังหญิงให้ทราบถึงสิทธิในการขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจพิจารณาคดี (Judicial Authorities) (ผู้ต้องขัง) หญิงควรได้รับการแจ้งถึงกระบวนการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หาก (ผู้ต้องขัง) หญิงตกลงที่จะดำเนินคดีต้องมีการแจ้งให้บุคลากรที่เหมาะสมทราบและต้องส่งคดีไปยังผู้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนโดยพลัน ผู้มีอำนาจในเรือนจำ (Prison Authority)ต้องช่วยเหลือให้หญิงดังกล่าวเข้าถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย (Legal Counsel)
2. ไม่ว่าหญิงจะเลือกที่จะดำเนินคดีหรือไม่ ให้ผู้มีอำนาจในเรือนจำพยายามทำให้แน่ใจว่าหญิงสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้มีความชำนาญพิเศษได้ทันที
3. มาตรการเฉพาะควรมีการพัฒนาเพื่อหลีกเลี่ยงการแก้แค้นต่อบุคคลซึ่งจัดทำข้อมูลหรือดำเนินคดี |
8. |
สิทธิของผู้ต้องขังหญิงด้านการปกปิดข้อมูลทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการปฏิเสธการให้(เข้าถึง)ข้อมูลและปฏิเสธการตรวจสอบประวัติสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์ ควรจะได้รับการเคารพเสมอ |
9. |
ในกรณีที่ผู้ต้องขังหญิงมีบุตรติดมาด้วย เด็กนั้นต้องได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเช่นกันโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก เพื่อกำหนดถึงการรักษาและความต้องการทางการแพทย์ และต้องจัดให้มีการบริการด้านสุขอนามัยที่เหมาะสมซึ่งอย่างน้อยควรจะเท่ากับบริการที่จัดให้ในชุมชน |
10. |
1. จัดให้มีการบริการด้านสุขอนามัยแก่ผู้ต้องขังหญิง ซึ่งอย่างน้อยควรเท่ากับบริการซึ่งจัดให้ในชุมชน
2. ในกรณีที่ผู้ต้องขังหญิงร้องขอให้ทำการตรวจหรือรักษาโดยแพทย์หรือพยาบาลหญิง ต้องจัดให้มีแพทย์หรือพยาบาลหญิง ทั้งนี้ในขอบเขตที่เป็นไปได้เว้นแต่ในสถานการณ์ที่ต้องการการร่วมรักษาทางการแพทย์โดยเร่งด่วนหากแพทย์ผู้ชายเป็นผู้ตรวจ ต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเข้าร่วมในการตรวจด้วย |
11. |
1. บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่สามารถอยู่ในช่วงการตรวจอนามัยนอกจากแพทย์เห็นว่ามีสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้น หรือแพทย์เรียกร้องให้มีบุคลากรของเรือนจำประจำอยู่ด้วยเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย
2. ในกรณีที่มีความจำเป็นในการให้บุคลากรของเรือนจำซึ่งมิใช่บุคลากรทางการแพทย์ประจำอยู่ในขณะการตรวจอนามัย การตรวจอนามัยดังกล่าว ควรดำเนินในลักษณะที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ และการรักษาความลับ |
12. |
ต้องจัดให้มีโครงการเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพจิตและการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่มีความเหมาะสมเฉพาะบุคคล คำนึงถึงความละเอียดอ่อนระหว่างเพศ ภาวะทุกข์ทรมานทางจิต และครอบคลุมให้แก่ผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีความต้องการการบริการด้านสุขภาพจิต |
13. |
บุคลากรของเรือนจำต้องเตรียมตัวทุกเมื่อในขณะที่ผู้ต้องขังหญิงมีความเครียดเช่น ในเวลาที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ เมื่อได้รับข้อมูลด้านลบจากบ้าน หรือในช่วงภาวะหมดประจำเดือน และก่อนได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้เพื่อที่จะมีความละเอียดอ่อนต่อสถานการณ์ดังกล่าวและให้ความช่วยเหลือได้ |
14. |
ในการพัฒนาการตอบสนองต่อปัญหา เอชไอวี/เอดส์ในเรือนจำ โครงการและบริการต่างๆ ควรจะตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้หญิงรวมถึงการป้องกันการถ่ายทอดระหว่างมารดาสู่บุตร ในบริบทนี้ ผู้มีอำนาจในเรือนจำต้องกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการให้การศึกษาโดยใช้เพื่อนเป็นแนวทาง (Peer-Based Education Initiatives) เพื่อการป้องกัน การดูแลรักษาโรคเอดส์ |
15. |
บริการด้านสุขอนามัยในเรือนจำต้องจัดให้มีโครงการบำบัดรักษาผู้ต้องขังหญิงซึ่งติดสารเสพติด โดยคำนึงถึงการตกเป็นเหยื่อแต่คราวก่อน (Prior Victimization) ความต้องการพิเศษของหญิงมีครรภ์และหญิงซึ่งมีบุตร เช่นเดียวกันกับภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย |
16. |
การพัฒนากลยุทธ์ในการป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองของผู้ต้องขังหญิงและการจัดให้มีการช่วยเหลือพิเศษเป็นการเฉพาะต่อหญิงซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพจิตของผู้ต้องขังหญิง |
17. |
ผู้ต้องขังหญิงต้องได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงการป้องกันโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับความผิดปกติด้านสุขภาพของหญิงโดยเฉพาะ (Gender Specific Health Condition) |
18. |
ผู้ต้องขังหญิงต้องได้รับบริการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงโดยเฉพาะเช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูก (Papanicolaou Smears) การทดสอบมะเร็งเต้านม และมะเร็งทางนรีเวช |
19. |
ต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้แน่ใจว่าศักดิ์ศรีของผู้ต้องขังหญิงและความเคารพจะได้รับการปกป้องในระหว่างการค้นตัว ซึ่งต้องกระทำโดยบุคลากรหญิงผู้ถูกฝึกมาอย่างถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการค้นตัวที่เหมาะสม |
20. |
วิธีการตรวจค้นโดยทางเลือกอื่น เช่น การสแกน (scans) ควรพัฒนาเพื่อนำมาใช้แทนที่การค้นที่ต้องสัมผัสร่างกายและถอดเสื้อผ้า เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นอันตรายทางกายภาพและสุขภาพจิตของการตรวจค้นที่ต้องสัมผัสร่างกายดังกล่าว |
21. |
บุคลากรเรือนจำ ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และดำรงไว้ซึ่งความเคารพและเกียรติในการค้นตัวเด็กติดผู้ต้องขังและเด็กซึ่งมาเยี่ยมผู้ต้องขัง |
22. |
การขังเดี่ยวหรือการลงโทษแบบแยกขังต้องไม่ใช้กับผู้ต้องขังหญิงที่มีครรภ์หญิงให้นมบุตรและหญิงมีบุตรทารกในเรือนจำ |
23. |
การลงโทษทางวินัยสำหรับผู้ต้องขังหญิงต้องไม่รวมถึงการห้ามการติดต่อกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุตร |
24. |
เครื่องพันธนาการต้องไม่ถูกใช้กับผู้หญิงในช่วงคลอดบุตร ทั้งขณะคลอดและทันทีภายหลังคลอด |
25. |
1. ผู้ต้องขังหญิงที่แจ้งการล่วงละเมิดต้องได้รับการคุ้มครอง การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาโดยทันที และข้อเรียกร้องของพวกเธอต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยผู้มีอำนาจที่เป็นอิสระ โดยให้ความเคารพเต็มที่ต่อหลักการรักษาความลับ มาตรการการคุ้มครองต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อความเสี่ยงในการถูกแก้แค้นโดยผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิด
2. ผู้ต้องขังหญิงซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะผู้ซึ่งตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดดังกล่าวต้องได้รับการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่เหมาะสมและได้รับการสนับสนุนการดูแลรักษาด้านสุขอนามัยตามที่จำเป็นและรวมทั้งความช่วยเหลือด้านกฎหมาย
3. ในการติดตามเงื่อนไขของการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงผู้ตรวจสอบ คณะกรรมการเยี่ยมและติดตามผลควรมีกรรมการที่เป็นหญิงด้วย |
26. |
การติดต่อระหว่างผู้ต้องขังหญิงกับครอบครัว ซึ่งรวมถึงบุตรของพวกเธอและผู้ปกครองบุตรของบุคคลเหล่านั้น ต้องได้รับการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในกรณีที่เป็นไปได้ ต้องจัดให้มีมาตรการในการทำให้ขจัดความไม่สมดุลซึ่งผู้ต้องขังหญิงที่ถูกคุมขังในสถานที่ที่ไกลจากบ้านของพวกเธอได้รับ |
27. |
ในกรณีที่อนุญาตให้มีการเข้าเยี่ยมอย่างใกล้ชิด ผู้ต้องขังหญิงต้องได้รับสิทธิดังกล่าวบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันกับผู้ต้องขังชาย |
28. |
การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหากมีเด็กมาด้วยต้องจัดในสถานที่ที่มีบรรยากาศเป็นมิตรในแง่ของสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทัศนคติของบุคลากรเรือนจำและต้องอนุญาตให้มีการติดต่ออย่างเปิดเผยระหว่างแม่และบุตร การเยี่ยม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อกันต่อไปควรได้รับการสนับสนุนเท่าที่เป็นไปได้ |
29. |
การเสริมสร้างขีดความสามารถให้เจ้าหน้าที่เรือนจำหญิงต้องทำให้พวกเธอสามารถตอบสนองต่อความต้องการพิเศษในการกลับคืนเข้าสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงและสามารถบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกเชิงฟื้นฟูซึ่งปลอดภัย (Safe and Rehabilitative Facilities) มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถรวมถึงการเข้าถึงเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส (Senior Position) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์เกี่ยวกับการดูแลและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง |
30. |
ต้องกำหนดกรอบที่ชัดเจนในระดับจัดการในการบริหารเรือนจำในการป้องกันและจัดการกับปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคลากรหญิงในเรือนจำ |
31. |
นโยบายและข้อบังคับที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติของบุคลากรในเรือนจำซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีการคุ้มครองในระดับสูงสุดต่อผู้ต้องขังหญิงจากการกระทำความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศต้องได้รับการพัฒนาและนำมาบังคับใช้ |
32. |
บุคลากรเรือนจำทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรม ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมในเรื่องความอ่อนไหวระหว่างเพศ (Gender Sensitivity) และข้อห้ามการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิดทางเพศ |
33. |
1. บุคลากรเรือนจำทุกคนที่ทำงานกับผู้ต้องขังหญิงต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง
2. ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานสำหรับบุคลากรเรือนจำซึ่งทำงานในเรือนจำหญิงเกี่ยวกับปัญหาหลักด้านสุขภาพของหญิง นอกเหนือจากการใช้ยาสามัญและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานสำหรับบุคลากรเรือนจำดังกล่าวเกี่ยวกับการบริการด้านสุขอนามัยของเด็กซึ่งอยู่กับมารดาในเรือนจำ เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถทำการปฐมพยาบาลเมื่อมีเหตุฉุกเฉินได้ |
34. |
โครงการเสริมสร้างความสามารถเกี่ยวกับความรู้เรื่องเอดส์จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรเรือนจำนอกเหนือจากการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ การรักษาดูแลและการให้การสนับสนุน ปัญหาต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน และสิทธิทางเพศซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเอดส์ ความอัปยศอดสูและการเลือกปฏิบัติล้วนแต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเช่นกัน |
35. |
บุคลากรเรือนจำต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้ทราบถึงอัตราความเสี่ยงในการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขังหญิง รวมถึงการเสนอความช่วยเหลือโดยการให้การสนับสนุนและส่งคดีไปยังผู้เชี่ยวชาญ |
36. |
ผู้มีอำนาจในเรือนจำต้องจัดให้มีมาตรการคุ้มครองตามความต้องการของผู้ต้องขังเยาวชนหญิง |
37. |
ผู้ต้องขังเยาวชนหญิงต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ต้องขังเยาวชนชาย |
38. |
ผู้ต้องขังเยาวชนหญิงต้องมีโอกาสในการเข้าถึงกิจกรรมและบริการที่มีความเหมาะสมต่อวัยและเพศ เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดและความรุนแรงทางเพศ ผู้ต้องขังเยาวชนหญิงควรได้รับความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยหญิงและมีสิทธิเข้าถึงนรีแพทย์อย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกันกับสิทธิที่ผู้ต้องขังหญิงวัยผู้ใหญ่ได้รับ |
39. |
ผู้ต้องขังเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องได้รับการช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์ที่เท่าเทียมกันกับผู้ต้องขังหญิงวัยผู้ ใหญ่และต้องได้รับการตรวจสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ต้องขังเยาวชนหญิงเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่สูงกว่า |
40. |
ผู้บริหารเรือนจำต้องจัดให้มีวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของเพศหญิงและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังหญิงเพื่อประกันถึงการวางแผนเกี่ยวกับการแยกเป็นรายบุคคลและการนำไปปฏิบัติเพื่อให้กลับสู่สภาพเดิม การรักษาและการกลับเข้าสู่สังคม |
41. |
การจัดทำประเมินค่าความเสี่ยงทางเพศ (The Gender Sensitive Risk Assessment) และการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง ต้อง :
(i) ให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงน้อยตามปกติของผู้ต้องขังหญิงที่มีต่อบุคคลอื่นเช่นเดียวกันกับผลกระทบที่อันตรายซึ่งอาจเกิดต่อพวกเธอเนื่องมาจากมาตรการรักษาความปลอดภัยระดับสูงและระดับความโดดเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น
(ii) คำนึงถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติของหญิง เช่น ความรุนแรงซึ่งเคยประสบ ประวัติเกี่ยวกับความบกพร่องทางจิตและการติดสารเสพติดเช่นเดียวกันกับหน้าที่เลี้ยงดูบุตรและหน้าที่อื่นๆ ในกระบวนการจัดสรรและวางแผนการลงโทษ
(iii) ทำให้แน่ใจว่าแผนการพิพากษาลงโทษรวมถึงโครงการและบริการเพื่อฟื้นฟูหญิงสู่สภาพเดิมตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของเพศ และ
(iv) ทำให้แน่ใจว่าผู้ต้องขังหญิงที่ต้องการการรักษาด้านสุขภาพจิตถูกจัดให้พำนักอยู่ในที่พักซึ่งมีกฎระเบียบเข้มงวดน้อยที่สุดและได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมแทนที่จะถูกส่งไปอยู่ในสถานที่ซึ่งมีระดับการรักษาความปลอดภัยที่สูงกว่าเพียงเพราะว่ามีปัญหาทางจิต |
42. |
1. ผู้ต้องขังหญิงต้องมีโอกาสในการเข้าถึงโครงการกิจกรรมที่สมดุลและครอบคลุมซึ่งคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของเพศ
2. ระบบเรือนจำต้องยืดหยุ่นเพียงพอต่อการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ต้องขังหญิงซึ่งตั้งครรภ์ ซึ่งต้องเลี้ยงบุตรและซึ่งมีบุตรติดมา สิ่งอำนวยความสะดวกในการเลี้ยงดูเด็กต้องถูกจัดไว้ในเรือนจำเพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมของเรือนจำได้
3. ต้องมีความพยายามโดยเฉพาะในการจัดให้มีบริการที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีความต้องการการสนับสนุนทางจิตสังคม โดยเฉพาะผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย ทางจิตใจและทางเพศ
4. ต้องมีความพยายามโดยเฉพาะในการจัดให้มีโครงการที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ที่มีบุตรอ่อน และที่มีบุตรติดมา |
43. |
ผู้มีอำนาจในเรือนจำต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงในฐานะที่เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งมีความสำคัญเพื่อให้มีสภาพจิตใจที่ดีและการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิง |
44. |
เนื่องจากผู้ต้องขังหญิงมีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่แตกต่างกัน จึงควรได้รับคำปรึกษาเสมอว่าบุคคลใดบ้าง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวเอง ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงได้ |
45. |
ผู้มีอำนาจในเรือนจำต้องเสนอทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องขังหญิงเช่น การเดินทางกลับภูมิลำเนา (Home Leave) เรือนจำที่มีความเข้มงวดน้อย (Open Prison) สถานที่พักฟื้นทางจิต (Half-Way House) และโครงการปฏิบัติการที่ใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน (Community Based Programmes) อย่างเต็มความสามารถเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนผ่านจากการอยู่เรือนจำสู่อิสรภาพและเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้คืนกลับมาในโอกาสแรกที่กระทำได้ |
46. |
เจ้าหน้าที่เรือนจำต้องร่วมมือกับหน่วยงานคุมความประพฤติและ/หรือการบริการสวัสดิการสังคม กลุ่มชุมชนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนออกแบบและบังคับใช้โครงการเตรียมการก่อนและหลังการปล่อยตัวเพื่อกลับเข้าสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงที่ครอบคลุม ซึ่งได้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง |
47. |
ต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมภายหลังการปล่อยตัวแก่ผู้ต้องขังหญิงซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ทางการแพทย์ ทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าการกลับเข้าสู่สังคมของผู้หญิงเหล่านั้นประสบความสำเร็จโดยร่วมมือกับบริการต่างๆ ในชุมชน |
48. |
1. ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรต้องได้รับคำแนะนำทางด้านสุขภาพและโภชนาการภายใต้โครงการที่ถูกสร้างขึ้นและควบคุมโดยผู้ให้คำแนะนำทางด้านสุขภาพที่ได้รับการรับรอง ต้องจัดอาหารที่เพียงพอและในเวลาที่เหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่หญิงตั้งครรภ์ ทารก เด็กและมารดาที่ให้นมบุตร
2. ต้องไม่ขัดขวางผู้ต้องขังหญิงจากการให้นมบุตร เว้นแต่มีเหตุผลทางด้านสุขภาพโดยเฉพาะในการทำเช่นนั้น
3. โครงการดูแลต้องรวมถึงการดำเนินการตามความต้องการทางด้านการแพทย์และโภชนาการสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่งให้กำเนิดบุตร แต่บุตรมิได้อยู่ร่วมในเรือนจำด้วย |
49. |
การตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้เด็กอยู่กับมารดาในเรือนจำหรือไม่ ต้องอยู่บนพื้นฐาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เด็กที่อยู่ในเรือนจำกับมารดาต้องไม่ได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นผู้ต้องขัง |
50. |
ผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีบุตรอยู่ร่วมในเรือนจำด้วยจะต้องได้รับโอกาสในการใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับบุตรให้มากที่สุด |
51. |
1. เด็กที่อาศัยร่วมกับมารดาที่เป็นผู้ต้องขังหญิงต้องได้รับบริการสุขภาพที่ต่อเนื่องและการดูแลพัฒนาการโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมมือกับการให้บริการสาธารณสุขชุมชน
2. สภาพแวดล้อมที่จัดไว้สำหรับการเลี้ยงดูเด็กดังกล่าวจะต้องมีสภาพใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมของเด็กที่อยู่นอกเรือนจำให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ |
52. |
1. การตัดสินใจว่าเมื่อใดเด็กจะถูกแยกออกจากมารดาต้องขึ้นอยู่กับผลการประเมินของเด็กแต่ละคนและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. การย้ายเด็กออกจากเรือนจำต้องกระทำด้วยความละเอียดอ่อนและกระทำเมื่อมีการจัดเตรียมการดูแลทางเลือกอื่นๆ ไว้แล้วเท่านั้น และโดยปรึกษากับเจ้าหน้าที่กงสุลในกรณีที่เป็นผู้ต้องขังชาวต่างชาติ
3. หลังจากเด็กถูกแยกออกจากมารดาและให้ไปอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือญาติ หรือการดูแลทางเลือก ผู้ต้องขังหญิงต้องได้รับโอกาสและการอำนวยความสะดวกมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อพบกับบุตรเมื่อเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็กและไม่ลดซึ่งความปลอดภัยสาธารณะ |
53. |
1. เมื่อมีข้อตกลงพหุภาคีหรือทวิภาคีที่เกี่ยวข้องกับการโอนผู้ต้องขังหญิงชาวต่างชาติเพื่อกลับไปรับโทษต่อในประเทศบ้านเกิด โดยเฉพาะในกรณีผู้ต้องขังหญิงดังกล่าวมีบุตรอยู่ในประเทศบ้านเกิดนั้นต้องได้รับการพิจารณาโดยเร็วที่สุด ภายหลังจากมีคำร้องหรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องขังหญิงที่เกี่ยวข้อง
2. ในกรณีเด็กที่อยู่กับผู้ต้องขังหญิงชาวต่างชาติจะถูกย้ายออกจากเรือนจำควรมีการพิจารณาย้ายเด็กไปสู่ประเทศบ้านเกิดของเด็กเองโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและโดยปรึกษากับมารดาของเด็ก |
54. |
ผู้มีอำนาจในเรือนจำต้องตระหนักว่าผู้ต้องขังหญิงที่มาจากพื้นฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน และอาจประสบกับการเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ ในการเข้าถึงบริการและโครงการที่เกี่ยวข้องกับ
วัฒนธรรมและเพศ ดังนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำต้องจัดเตรียมการให้บริการและโครงการที่ครอบคลุมซึ่งตอบสนองความต้องการเหล่านี้ โดยการปรึกษากับตัวผู้ต้องขังหญิงเองและกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง |
55. |
ต้องมีการพิจารณาทบทวนถึงบริการที่ให้ก่อนและหลังการปล่อยตัวเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยผู้ต้องขังหญิงพื้นเมืองและผู้ต้องขังหญิงชนกลุ่มน้อยและชนที่มีเชื้อชาติต่างออกไป โดยปรึกษากับกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง |
56. |
ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงความเสี่ยงเป็นพิเศษของผู้หญิงในการถูกล่วงละเมิดที่อาจประสบขณะถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดี โดยต้องกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในทางนโยบายและทางปฏิบัติเพื่อประกันความปลอดภัย
ของผู้หญิงในช่วงเวลานี้ (ดูข้อกำหนด 58 ข้างล่าง เกี่ยวกับทางเลือกอื่นของการคุมขังก่อนการพิจารณาคดี) |
57. |
บทบัญญัติของข้อกำหนดโตเกียว (the Tokyo Rules) ต้องให้แนวทางการพัฒนาและการใช้การตอบสนองที่เหมาะสมต่อผู้กระทำความผิดหญิงต้องพัฒนาทางเลือกเฉพาะเพศหญิงในเรื่องมาตรการการเบี่ยงเบนการเข้าสู่กระบวนการทางศาลและทางเลือกอื่นๆ ในขั้นตอนก่อนการพิจารณาและในการตัดสินพิพากษาภายใต้ระบบกฎหมายของ “ประเทศสมาชิก” โดยพิจารณาถึงประวัติของการตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำความผิดหญิงจำนวนมากและภาระหน้าที่ของพวกเธอในการดูแลครอบครัว |
58. |
เมื่อพิจารณาถึงข้อกำหนด 2.3 ของข้อกำหนดโตเกียว (the Tokyo Rules) ผู้กระทำความผิดหญิงไม่ควรถูกแยกออกจากครอบครัวและชุมชนโดยไม่ได้รับการพิจารณาใคร่ครวญอย่างเหมาะสมถึงภูมิหลังและสายสัมพันธ์ในครอบครัวทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการกับผู้หญิงที่กระทำความผิด เช่น มาตรการการเบี่ยงเบนการเข้าสู่กระบวนการทางศาลและทางเลือกอื่นๆ ในขั้นตอนก่อนการพิจารณาและในการตัดสินพิพากษาที่ต้องนำมาปรับใช้เมื่อใดก็ตามที่เหมาะสมและเป็นไปได้ |
59. |
โดยทั่วไปวิธีการคุ้มครองที่มิใช่การคุมขัง ตัวอย่างเช่น ในที่พักพิงที่จัดการโดยผู้ดำเนินการอิสระ องค์กรอิสระ หรือส่วนบริการชุมชนอื่นๆ จะต้องถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้หญิงที่ต้องการการคุ้มครองดังกล่าว มาตรการชั่วคราวที่เกี่ยวกับการควบคุมตัวเพื่อคุ้มครองผู้หญิงจะนำมาใช้เมื่อมีความจำเป็นและจะต้องได้รับการร้องขอโดยชัดแจ้งจากผู้หญิงซึ่งเกี่ยวข้องเท่านั้น ทั้งต้องควบคุมดูแลโดยผู้มีอำนาจในการพิจารณาคดีหรือผู้มีอำนาจหน้าที่อื่น มาตรการการคุ้มครองดังกล่าวจะต้องไม่ดำเนินต่อไปเมื่อขัดต่อความประสงค์ของผู้หญิงซึ่งเกี่ยวข้องนั้น |
60. |
ต้องมีทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อออกแบบทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้กระทำความผิดหญิงเพื่อที่จะผสมผสานมาตรการที่มิใช่การคุมขังกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่พบได้โดยทั่วไปที่สุดอันนำไปสู่การเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้หญิง สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงหลักสูตรการบำบัดและการให้คำปรึกษาแก่เหยื่อผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ การรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้มีความบกพร่องทางสมอง และโครงการทางการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงาน โครงการต่างๆ เหล่านี้จะคำนึงถึงความต้องการในการเตรียมการดูแลสำหรับเด็กและผู้หญิงเท่านั้น |
61. |
เมื่อพิพากษาผู้กระทำความผิดหญิง ศาลต้องมีอำนาจในการพิจารณาเหตุบรรเทาโทษ เช่น การไม่มีประวัติอาชญากร และความไม่รุนแรงที่สัมพันธ์กันและลักษณะของการกระทำความผิดทางอาญา ควบคู่ไปกับภาระหน้าที่ของผู้หญิงในการดูแลครอบครัวและภูมิหลังทั่วไป |
62. |
ต้องปรับปรุงการจัดโครงการบำบัดผู้ติดสารเสพติดที่มีความละเอียดอ่อน โดยคำนึงถึงเพศ การรักษาภาวะทุกข์ทรมานทางจิตสำหรับผู้หญิงเป็นการเฉพาะในชุมชนและการเข้าถึงการบำบัดรักษาดังกล่าว เพื่อการป้องกันอาชญากรรมและเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้มาตรการการเบี่ยงเบนการเข้าสู่กระบวนการทางศาลและการลงโทษโดยทางเลือกอื่นๆ |
63. |
การพิจารณาเพื่อให้มีการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษจะต้องคำนึงถึงประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องขังหญิงในเรื่องภาระหน้าที่การดูแลครอบครัว รวมทั้งความต้องการกลับคืนสู่สังคมโดยเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงด้วย |
64. |
ต้องสนับสนุนการใช้โทษที่มิใช่การจำคุกแก่หญิงที่ตั้งครรภ์และหญิงที่มีบุตร วัยพึ่งพิงเมื่อเป็นไปได้และเหมาะสม โดยพิจารณาใช้โทษจำคุกเมื่อเป็นความผิดที่ร้ายแรงหรือรุนแรง หรือเมื่อหญิงนั้นแสดงลักษณะที่เป็นภัยอันตรายต่อเนื่องและหลังจากคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กแล้วเท่านั้น ทั้งต้องแน่ใจว่าได้มีการเตรียมการที่เหมาะสมแล้วเพื่อการดูแลเด็กดังกล่าว |
65. |
ต้องหลีกเลี่ยงการให้เด็กอยู่ในสถานกักกันที่ขัดกับกฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการมีคำสั่งประการใดจะต้องนำเอาประเด็นเรื่องความเปราะบางทางเพศของผู้กระทำความผิดหญิงที่เป็นเด็กและเยาวชนเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย |
66. |
ต้องใช้ความพยายามสูงสุดเพื่อให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็กอันเป็นบทเพิ่มเติมสนับสนุนอนุสัญญานั้น เพื่อที่จะนำบทบัญญัติต่างๆ ดังกล่าวมาบังคับใช้อย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความคุ้มครองขั้นสูงสุดแก่เหยื่อจากการค้ามนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อซ้ำสองของผู้หญิงต่างชาติจำนวนมาก |
67. |
ต้องให้เกิดความพยายามที่จะดำเนินการและส่งเสริมการวิจัยที่ครอบคลุมซึ่งเน้นผลที่ตามมาในเรื่องความผิดที่ผู้หญิงได้กระทำ ขึ้น เหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผลกระทบต่อมาของการทำให้เป็นอาชญากรและการจำคุกที่มีต่อผู้หญิง ลักษณะของผู้กระทำความผิดหญิง รวมทั้งโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำซ้อนของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นฐานของการวางแผน การพัฒนาโครงการและการสร้างนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำความผิดหญิง |
68. |
ต้องให้เกิดความพยายามที่จะดำเนินการและส่งเสริมการวิจัยเรื่องจำนวนของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการที่มารดาต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการจำคุกเป็นพิเศษ และผลกระทบของเรื่องดังกล่าวต่อเด็กเพื่อช่วยในการสร้างนโยบายและพัฒนาโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก |
69. |
ต้องให้เกิดความพยายามในการทบทวน ประเมินผล และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นระยะถึงแนวโน้ม ปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้หญิง และประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการในการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำความผิดหญิงและบุตรของพวกเธอ เพื่อลดการตีตราและผลกระทบทางลบที่มีต่อผู้หญิงจากการที่หญิงนั้นเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา |
70. |
1. สื่อและสาธารณชนต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลที่นำไปสู่การที่ผู้หญิงตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อช่วยให้เกิดการกลับคืนสู่สังคมของผู้หญิง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
2. การตีพิมพ์และการเผยแพร่การวิจัยและตัวอย่างทางปฏิบัติที่ดีต้องพัฒนาเป็นองค์ประกอบของนโยบายที่ครอบคลุมซึ่งมุ่งพัฒนาผลลัพธ์และความยุติธรรมต่อผู้หญิงและเด็กในการตอบสนองทางความยุติธรรมทางอาญาต่อผู้กระทำความผิดหญิง
3. สื่อ สาธารณชน และบุคคลที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำความผิดหญิงต้องได้รับข้อมูลทางข้อเท็จจริงอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในข้อกำหนดเหล่านี้และการนำข้อกำหนดดังกล่าวไปบังคับใช้
4. โครงการฝึกอบรมในเรื่องข้อกำหนดปัจจุบันและผลของการวิจัยต้องได้รับการพัฒนาขึ้นและนำไปปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักและให้ไวต่อการรับรู้ถึงบทบัญญัติที่มีอยู่ในที่นั้น |
|