
ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม ประจำปีการศึกษา 2551 แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติถวายในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระภารกิจทั้งด้านการศึกษา การทูต กระบวนการยุติธรรม การอาชีพ และ
การสังคมสงเคราะห์โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ทูตสันถวไมตรีกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งทรงรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความรับผิดชอบและเกิดจิตสำนึกในการดูแลเด็กและสตรี |
 |
ในปีถัดมาสองปีติดต่อกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารงานยุติธรรมและปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะที่ทรงคุณวุฒิในด้านการบำเพ็ญพระภารกิจทั้งด้านการศึกษา การทูต การอาชีพ การสังคมสงเคราะห์ กระบวนการยุติธรรม
การให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งผู้ต้องขังหญิงและชายผู้กระทำความผิด ผู้ถูกคุมความประพฤติภายใต้โครงการ “กำลังใจ” (Inspire) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งเสริม การให้กำลังใจ การให้โอกาส และการสงเคราะห์อื่นๆ ที่จำเป็นแก่บุคคลเหล่านี้ เพื่อสังคมไทยจักได้เป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจและให้โอกาสแก่ผู้ที่เคยก้าวพลาดให้กลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอประทานถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารงานยุติธรรม แด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
นับตั้งแต่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้ว ทรงมีความสนพระทัยในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ทรงเข้าศึกษาและสำเร็จการศึกษาทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาประกอบในการทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “สู่ความยุติธรรมอย่างเสมอภาค : การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา และจำเลย ในกระบวนยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอเมริกา” และในระหว่างศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังได้ทรงศึกษากฎหมายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และได้ทรงสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทย ในปีพุทธศักราช 2548
ในระหว่างทรงศึกษาระดับปริญญาโทและเอก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาได้ทรงฝึกงานกับสำนักงานอัยการประจำนครนิวยอร์ก (The Office of the District Attorney of New York) โดยได้ทรงศึกษาขั้นตอนการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย อีกทั้งได้ทรงฝึกปฏิบัติการสืบพยาน การหาหลักฐาน การเขียนสำนวนฟ้อง และการว่าความตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา อันเป็นการเพิ่มพูนพระปรีชาญาณในด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก
เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะเลขานุการเอก ประจำคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติณ นครนิวยอร์ก ในระหว่างปีพุทธศักราช 2548 - 2549 ตลอดระยะเวลาที่ทรงประจำการอยู่ ณ คณะทูตถาวรฯ ณ นครนิวยอร์ก ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจนักการทูตด้วยความเป็นผู้นำและความอุทิศทุ่มเท ส่งผลให้พระปรีชาสามารถ พระปฏิภาณไหวพริบ พระวิริยะอุตสาหะ พระอัธยาศัย และพระจริยวัตรอันงามสง่าเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทรงมีส่วนช่วยเพิ่มพูนบทบาทและเกียรติภูมิของประเทศไทยแก่ประชาคมนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งได้นำความก้าวหน้ามาสู่การทูตพหุภาคีของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีตัวอย่างพระภารกิจที่ได้ทรงปฏิบัติในฐานะนักการทูต ดังนี้
ทรงเป็นองค์ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) สมัยที่ 60 ณ นครนิวยอร์ก โดยทรงรับผิดชอบงานในกรอบคณะกรรมการ 3 (Third Committee) และคณะกรรมการ 6 (Sixth Committee) ได้แก่ เรื่องการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สิทธิมนุษยชน ผู้อพยพ และการย้ายถิ่นฐาน
ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการเจรจาการทูตพหุภาคี (Multilateral Diplomacy) ได้เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน เมื่อประเทศไทยเสนอร่างข้อมติ (Draft Resolution) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ 3 ในเรื่อง “การติดตามผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 11” (Follow-up to the Eleventh United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช 2548 โดยได้ทรงร่วมยกร่างเนื้อหา ร่างข้อมติ และทรงใช้พระปฏิภาณไหวพริบทางการทูตร่วมเจรจากับนักการทูตชาติอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้มีการรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) แนบท้ายร่างข้อมติดังกล่าว
นอกเหนือจากพระภารกิจด้านกฎหมาย และการต่างประเทศแล้วยังทรงปฏิบัติพระภารกิจเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยที่ตกทุกข์ได้ยากและประสบภัยธรรมชาติเป็นประจำ โดยผ่านมูลนิธิ “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก”
ในด้านงานยุติธรรม ทรงรับราชการตำแหน่งอัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ อัยการประจำกอง สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 อัยการประจำกอง สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดียาเสพติด 1 อัยการจังหวัดผู้ช่วย จังหวัดอุดรธานี รองอัยการจังหวัด จังหวัดอุดรธานีรองอัยการจังหวัดพัทยา รองอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู และปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งในงานยุติธรรม ทรงมีพระวิสัยทัศน์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเด็กทารกและเด็กติดผู้ต้องขัง และผู้ต้องขังสตรีที่ตั้งครรภ์ ระหว่างการพิจารณาคดีและต้องโทษอาญา ด้วยทรงเห็นว่า กลุ่มเด็กติดผู้ต้องขังเป็นผู้บริสุทธิ์ และสมควรได้รับการช่วยเหลือดูแลไม่ให้มีตราบาปติดตัว ซึ่งเป็นที่มาของการก่อเกิดโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ที่มีพัฒนาการเป็นอย่างมากในการยกระดับของประเทศไทยจากการที่ทรงดำเนินการโครงการกำลังใจ โดยได้มีการยกระดับในการที่ประเทศไทยภายใต้การนำในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสนอให้มีการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1955 จึงเป็นที่มาของโครงการ “Enhancing Lives of Female Inmates” ที่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนการนำเสนอต่อที่ประชุม Crime Congress ขององค์การสหประชาชาติ ณ ประเทศบราซิลและจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2553
จากการที่ทรงงานด้านการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง จึงทำให้องค์การระหว่างประเทศในด้านผู้หญิง หรือ UNIFEM ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติได้กราบทูลเชิญเป็นองค์ทูตสันถวไมตรีในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในปี 2552 ซึ่งปรากฏว่า จากการรณรงค์ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สามารถรวบรวมรายชื่อผู้ที่เห็นด้วย กับการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กได้มากกว่า 3 ล้านรายชื่อ จากทั้งหมด 5 ล้านรายชื่อในโลก และภายหลังจากการรณรงค์ดังกล่าวยังทรงงานในด้านการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ในกลุ่มเด็กในโรงเรียน การรณรงค์ในกลุ่มเด็กนอกโรงเรียน (กลุ่มเยาวสตรี) การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจกล่าวได้ว่า ทรงเป็นทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และนักสหวิชาชีพ เป็นนักปฏิบัติที่มีความสนใจอย่างยิ่งยวด ในกระบวนการยุติธรรมและระบบงานยุติธรรม จึงเป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ และเด็กติดผู้ต้องขังหญิง นอกจากนั้น ยังทรงเป็นผู้ที่ผลักดันด้านนโยบาย กลยุทธ์ และความริเริ่มต่างๆ ในการส่งเสริมสถานภาพสตรีการสนับสนุนและการปกป้องเด็กและเยาวชน รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมในคดีเด็กและเยาวชนด้วย
ในด้านสิทธิและความต้องการในลักษณะเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก ทรงมีพระดำริในการดำเนินโครงการ “Enhancing Lives of Female Inmates” อันมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันให้มี “ข้อกำหนดของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง” ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการเสริมข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ ค.ศ.1955 การริเริ่มดังกล่าวจึงได้กลายเป็นแนวทางในการเสริมสร้างบรรทัดฐานและมาตรฐานของสหประชาชาติในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนยุติธรรมทางอาญา
นอกจากการช่วยเหลือในกลุ่มผู้ต้องขังหญิง และผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงแล้ว ยังทรงมีพระดำริในการที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังชายด้วย โดยในปี 2553 ทรงมีพระดำริในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้กับผู้ต้องขังก่อนปล่อยออกจากเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำร่องในโครงการดังกล่าว โดยทรงตระหนักว่า ผู้ต้องขังบางคนทำผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้จักวิธีการดำรงชีวิต หากผู้ต้องขังมีความรู้ ความคิด และทัศนคติที่อยู่บนความพอเพียง และได้ความรู้ในด้านอาชีพติดตัวไปก่อนพ้นโทษจะเป็นการติดอาวุธทางจิตใจและปัญญาให้กับผู้ต้องขังให้มีความเข้มแข็งด้านจิตใจ และทนต่อแรงกดดันของสังคมภายนอกได้โดยไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำอีก
ด้วยพระวิริยะในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการส่งเสริมศักดิ์ศรี และความยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องขัง จึงนำไปสู่การดำเนินโครงการ “กำลังใจ” หรือ “Inspire” โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือ การส่งเสริมการให้กำลังใจ การให้โอกาส รวมทั้งการสงเคราะห์อื่นๆ ที่จำเป็นแก่ผู้ต้องขังผู้กระทำความผิด และผู้ถูกคุมความประพฤติในประเทศไทย ขณะเดียวกันทรงส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และให้โอกาสแก่ผู้ที่เคยก้าวพลาดให้กลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข ดังนั้นแรงขับเคลื่อนและความตระหนักในเรื่องดังกล่าวจึงได้รับการพัฒนาขึ้นในสังคมไทย
ด้วยพระภารกิจและพระกรณียกิจทางด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า ทรงเข้าพระทัยถึงเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมอย่างถ่องแท้ และทรงนำเอาเจตนารมณ์และหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับพระภารกิจและพระกรณียกิจทางด้านกฎหมายและการบริหารงานยุติธรรมให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายได้อย่างเสมอภาค จนเป็นที่ปลาบปลื้มปิติยินดีแก่พสกนิกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ประสบภาวะยากลำบากในกระบวนการยุติธรรมให้ได้รับสิทธิและความเป็นธรรมและมีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากล และตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ขอประทานพระวโรกาสถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารงานยุติธรรม แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์อีกทั้งเป็นเกียรติและสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สืบไป
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอพระราชทานพระาชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอประทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมารทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) จากเนติบัณฑิตยสภา และระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา ทรงปฏิบัติงานเป็นคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และปฏิบัติราชการในตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และเมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทย ทรงปฏิบัติราชการในตำแหน่งพนักงานอัยการทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะในท้องถิ่นห่างไกลด้วยมีพระประสงค์สร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในทุกระดับ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบยุติธรรมและการป้องกันอาชญากรรม โดยได้ทรงร่วมเสนอร่างข้อมติเรื่องการป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญาต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์การสหประชาชาติ ทรงใช้พระปรีชาญาณในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเลขาธิการสหประชาชาติ และทรงใช้พระปฏิภาณทางการทูตร่วมเจรจากับเอกอัครราชทูตและนักการทูตประเทศต่างๆ เพื่อให้นานาชาติร่วมผลักดันในร่างข้อมติ ซึ่งนำไปสู่การรับรองข้อมติสหประชาชาติ ที่ 60/177 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2548 อันเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบยุติธรรมและการป้องกันอาชญากรรมของประเทศไทย
ในด้านกระบวนการยุติธรรม ทรงสนพระทัยและมีพระเมตตาต่อผู้ต้องขังหญิงและเด็กทารกที่มารดาคลอดในเรือนจำ โดยทรงได้รับแรงบันดาลใจจากการเสด็จเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง และพบว่า ผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังได้รับการดูแลจากรัฐอย่างจำกัด อีกทั้งข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำที่ใช้อยู่ทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทรงมีพระดำริริเริ่มโครงการกำลังใจฯ (INSPIRE) เพื่อให้การดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังในเรือนจำ อันเป็นการทำให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้รับโอกาสในการกลับตนเป็นคนดีมากยิ่งขึ้น โดยมีกระทรวงยุติธรรมถวายงานทรงมีพระดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีความรู้ร่วมมือประสานงานและประสานความรู้ความสามารถกันอย่างจริงจัง ซึ่งโครงการกำลังใจประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
ทรงริเริ่มโครงการ Enhancing Lives of Female Inmates หรือ ELFI ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เป็น “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) หรือ The Bangkok Rules โครงการนี้เป็นการดำเนินการทางการทูตเชิงรุกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งมีสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่สามารถออกไปแสดงบทบาทนำในการผลักดันและเจรจาโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วโลกให้ความเห็นชอบในข้อกำหนดนี้ และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบ The Bangkok Rules เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยังทรงเพิ่มเกียรติภูมิให้กับประเทศไทยโดยแสดงบทบาทนำ ในเรื่องการยุติความรุนแรงต่อสตรี โดยได้ทรงรับเป็น “ทูตสันถวไมตรี” (Goodwill Ambassador) ให้กับกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Fund for Women หรือ UNIFEM) ในโครงการ Say NO to Violence against Women ในประเทศไทย ด้วยทรงเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทยและทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จึงทรงเชิญชวนให้คนไทยลงชื่อสนับสนุนการยุติความรุนแรงให้ครบ 3,000,000 ชื่อ พร้อมทรงลงพระนามในโปสการ์ด เพื่อเป็นหนึ่งเสียงที่ร่วมต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยได้รวบรวมและเสนอรายชื่อต่อองค์การสหประชาชาติอีกด้วย ประเทศไทย จึงถือเป็นประเทศแรกในโลกที่สนับสนุนและกระตุ้นให้ประเทศอื่นทั่วโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิสตรีและยุติการใช้ความรุนแรง
คุณประโยชน์ที่ปวงประชาชาวไทยได้รับจากพระกรณียกิจในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นอกจากด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังทรงปฏิบัติงานในด้านสาธารณกุศลอีกด้วย โดยผ่านโครงการในพระอุปถัมภ์ อันได้แก่ โครงการเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยเพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันเกื้อหนุนประชาชนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยาก ด้วยการประทานอาชีพและการสังคมสงเคราะห์ด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชนชาวไทยได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติไม่เพียงแต่เป็นที่ประจักษ์ของพสกนิกรชาวไทยแต่ยังเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาคมโลกอีกด้วย ดังนั้น องค์การสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม หรือ UNODC (United Nation Office on Drugs and Crime) จึงได้ขอประทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลเชิดชูเกียรติยศสูงสุด Medal of Recognition แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการพัฒนาด้านกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงภายใต้โครงการกำลังใจ การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีของกองทุนการพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ (หรือ UNIFEM) และการพัฒนาชีวิตและสิทธิของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ อีกทั้งยังได้รับรางวัล President ‘s Award ซึ่งทูลเกล้าถวายโดย International Corrections and Prisons Association (ICPA) และ UNIFEM Award ในฐานะที่ทรงเป็นองค์ทูตสันถวไมตรีและทรงมีบทบาทนำในเรื่องการยุติความรุนแรงต่อสตรีอีกด้วย
พระกรณียกิจ พระปรีชาสามารถ พระวิริยะ และพระอัจฉริยภาพในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กอปรกับพระปรีชาญาณทางด้านการทูตการอาชีพ และสังคมสงเคราะห์ที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดมา ถือเป็นคุณานุประโยชน์อย่างยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทย สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ขอประทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบันฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนให้ชาวไทยทั้งหลายตระหนักในพระปรีชาคุณอันล้ำเลิศ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏโดยทั่วกัน ประกอบกับเพื่อเป็นเกียรติประวัติและสิริมงคลอันสูงสุดแก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และวงวิชาการด้านกฎหมายสืบไป
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ในปี 2554 สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในคราวประชุมครั้งที่ 332(5/2554) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2554 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาลที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การทูต การอาชีพและสังคมสงเคราะห์อีกทั้งทรงประกอบพระกรณียกิจด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย เป็นที่ประจักษ์อย่างแพร่หลาย โดยมีพิธีทูลเกล้าถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงรับการถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากคณะนิติศาสตร์ ชิคาโกเค้นท์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จไปยังสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ในพิธีประสาทปริญญาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ โอกาสนี้ ทรงฉลองพระองค์ครุยวิทยฐานะของสถาบันฯ และทรงพระดำเนินร่วมแถวคณบดี คณาจารย์ของสถาบันฯ ไปยังเวทีกลางแจ้ง เพื่อร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร
จากนั้น นายจอห์น แอนเดอร์สัน อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการทรัสตีมีมติเอกฉันท์ถวายปริญญาดังกล่าว ในฐานะที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจต่างๆในฐานะนักกฎหมาย และนักการทูต ทรงปรับใช้วิชาความรู้ด้านกฎหมายที่ทรงศึกษา และด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทรงสนพระทัย มาสู่การปฏิบัติในช่วงระยะเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานอัยการ
นอกจากนี้ ยังทรงริเริ่มโครงการกำลังใจในพระดำริฯ เพื่อประทานความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น ผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งทรงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อเสนอของไทยที่มุ่งสร้างมาตรฐานว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ จนสามารถผลักดันให้เกิดการรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” ได้เป็นผลสำเร็จในการประชุมสมัยที่ 65 ของสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อปี 2553 ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ สมัยที่ 21 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
|