Follow us on

แม่และเด็ก

1 มี.ค. 2560
พระองค์ภาฯ ทรงเปิดโครงการกำลังใจฯ ณ เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายใต้กิจกรรม “ฮักเฮือนจำแม่ฉอด”
พระองค์ภาฯ ทรงเปิดโครงการกำลังใจฯ ณ เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ภายใต้กิจกรรม “ฮักเฮือนจำแม่ฉอด”
 
                   เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15.05 น. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จเปิดโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ณ เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายใต้กิจกรรม “ฮักเฮือนจำแม่ฉอด” ซึ่งเรือนจำ/ทัณฑสถานหญิงแห่งที่ 16 ของการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจฯ  โดยมีนายวีระพล  ตั้งสุวรรณ  ประธานศาลฎีกา  นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  นายชาญเชาวน์    ไชยานุกิจ  ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางกรรณิการ์  แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอธิคม  อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นางรื่นวดี  สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสมศักดิ์ ยุทธโอภาส ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการศาลยุติธรรม เฝ้าฯ รับเสด็จ
                   ด้วยพระเจ้าหลานเธอฯ ทรงห่วงใยเรือนจำขนาดเล็กและอยู่ติดชายแดนซึ่งน่าจะมีข้อจำกัดในด้านของการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงมีพระวินิจฉัยที่จะเสด็จเปิดโครงการกำลังใจฯ ณ เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  โดยเรือนจำแห่งนี้เป็นเรือนจำอำเภอ มีอำนาจการควบคุมผู้ต้องขังที่มีโทษไม่เกิน 10 ปี ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 6 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งหมด 891คน แบ่งเป็น ชาย 776คน และหญิง 115คน แต่เนื่องจากเป็นเรือนจำที่ติดชายแดนประเทศเมียนมา จึงทำให้มีผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงที่มีเชื้อชาติพม่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยผู้ต้องขังที่มีเชื้อชาติพม่า จะประกอบด้วยหลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ปกาเกอะญออีก้อ มอญ ลีซอ เย้า ไทยใหญ่  มูเซอ และผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงโดยส่วนใหญ่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเกี่ยวข้องในฐานะผู้เสพและผู้รับจ้าง  โดยบางคนที่เสพเนื่องจากทำให้สามารถทำงานในในระยะเวลานานมากขึ้น และกรณีรับจ้างก็เพื่อแสวงหารายได้มาดูแลครอบครัว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่
                   ในการนี้ ทรงเปิดร้าน "กาแฟฉอด Shot Coffee" ร้านกาแฟและเบเกอรี่ โดยได้ประทานเครื่องชงกาแฟให้กับทางร้าน เพื่อสนับสนุนให้เป็นสถานที่เตรียมความพร้อมในการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เมื่อพ้นโทษออกไปจะได้ประกอบอาชีพที่สุจริต โดยได้รับการอบรมจากรานกาแฟบ้านพิม
จากนั้น เสด็จเข้าภายในเรือนจำ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ต้องขังชาย อาทิ งานแกะสลักแผ่นฉลุ 12 ราศี, แผ่นไม้แกะสลักนูนต่ำ, งานไม้เครื่องเขียน เช่น ชุดรับแขก ชุดรับประทานอาหาร และโต๊ะหมู่บูชา รวมถึงการฝึกทำอิฐบล็อก  ต่อมาเสด็จยังแดนหญิง ทอดพระเนตรกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมให้ความรู้ สนองพระดำริที่ให้จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ต้องขังหญิง อาทิ กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต Life Coach มีกลุ่มจิตอาสาเข้ามาจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต, ด้านภาษา มีการสอนหนังสือให้ผู้ต้องขังชาวเมียนมาที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งอาจทำให้ตกเป็นเหยื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้โดยง่ายจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยทรงให้จัดทำคู่มือการใช้ชีวิตในเรือนจำ เช่น คู่มือสิทธิของผู้ต้องขังเบื้องต้น และข้อมูลที่ควรรู้เมื่อต้องใช้ชีวิตในเรือนจำ จัดทำเป็น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย, ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยให้หน่วยงานต่างๆ และบุคคลภายนอกร่วมบริจาคหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาเมียนมาให้กับผู้ต้องขังได้อ่าน มีหนังสือไว้เพื่อแสวงหาความรู้ และผ่อนคลายความเครียด เช่น บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด ร่วมส่งกำลังใจด้วยหนังสือประเภทวิชาชีพงานประดิษฐ์และอาหาร จ่าพิชิตจากเพจดราม่าแอทดิคนำหนังสือพอคเก็ตบุ๊คมามอบให้กับมุมปลูกกฎหมายใส่ปัญญาอีกด้วย  
                    นอกจากนี้นิทรรศการในแดนหญิงยังจัดแสดงศาสตร์พยากรณ์ไพ่ยิปซี  การเย็บจักรซิงเกอร์ งานปักผ้าชนเผ่า การถักโครเชต์ การทำบายศรี  พระเจ้าหลานเธอฯ มีรับสั่งชื่นชมกับผู้ต้องขังที่สาธิตการทำบายศรีว่า บายศรีสวยมาก หากตั้งใจทำสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เพราะปัจจุบันมีความต้องการงานฝีมือแบบนี้ ไม่ว่าใครจัดงานอะไรก็ต้องใช้ จากนั้น ทรงมีพระดำรัสกับผู้ต้องขังที่อบรมการฝึกเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้ต้องขัง 1 ราย พ้นโทษและได้ออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน และมีรายได้เป็นของตนเองจากการฝึกวิชาชีพนี้ในเรือนจำ   ลำดับต่อมา พระเจ้าหลานเธอฯ ประทานถุงของขวัญให้กับแม่และเด็กเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กติดผู้ต้องขัง 3 คน และมีผู้ต้องขังกำลังตั้งครรภ์ 1 คน โดยเป็นผู้ต้องขังชาวไทย 2 คน และชาวเมียนมา 2 คน  ถัดมา ทอดพระเนตรการสาธิตโครงการอาหารคลีนขึ้นในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความรู้ในด้านอาหารสุขภาพ ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้หลังจากที่พ้นโทษออกไป โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มีเมนูน่าสนใจ อาทิ ตำผลไม้รวม ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน เต้าหู้ทรงเครื่อง คุกกี้ธัญพืช บราวนี่ถั่วแดงน้ำสมุนไพร ทรงปรุงอาหารเมนูเครปญี่ปุ่น ซึ่งใช้แป้งโฮลวีทเพื่อสุขภาพ ทรงเลือกไส้น้ำพริกเผา และไก่หยอง พร้อมรับสั่งว่าชอบแบบกรอบๆ พร้อมกันนี้ ได้ประทานเงินจากกองทุนกำลังใจฯ แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นทุนตั้งต้นสำหรับการจัดตั้งกองทุนในการช่วยเหลือผู้ต้องขังในอนาคต พร้อมประทานอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุภายในเรือนจำ อาทิ ถังออกซิเจน, เสาน้ำเกลือ, เตียงผู้ป่วย และรถทำแผล ปัจจุบันเรือนจำอำเภอแม่สอด ปิดท้ายด้วยผู้บังคับแดนหญิงทูลถวายชุดชนเผ่าฝีมือการปักของผู้ต้องขังต่างชาติ
                   ท้ายสุดได้เปิดโอกาสให้โอกาสผู้ต้องขังชายและหญิง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ ได้มีการแสดงกิจกรรมร่วมกัน อันเนื่องมาจากยังอยู่ในช่วงของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรักโดยผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้จัดแสดงกิจกรรมการรำและแสดงในชุดต่างๆ จำนวน 6 ชุด  ได้แก่ การตีกลองสะบัดชัย  ซอพม่า  รำพม่า  น้อยใจยา ค้างคาวกินกล้วย  และชุดใกล้รุ่ง  จากนั้นทรงพระอนุญาตให้ศิลปินจากบริษัท อาร์เอส จำกัด มหาชน ได้แก่ กุ้ง สุธิราช และ วิรดา วงศ์เทวัญ มาร้องเพลงและแสดงดนตรีเพื่อสร้าง   ความสนุกและกำลังใจให้กับผู้ต้องขัง จำนวน 4 เพลง
                   ในการนี้ ได้ประทานพระอนุญาตให้ตัวแทนผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 67ได้เข้าร่วมในกิจกรรมการเปิดโครงการกำลังใจครั้งนี้ด้วย โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 67 จำนวน 30 ท่านได้เข้าพูดคุยกับผู้ต้องขังเพื่อทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง ณ เรือนจำอำเภอแม่สอดแล้ว อันเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมเพื่อสร้างความรู้ให้กับผู้พิพากษาให้มีดุลยพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างรอบด้าน
เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงต่างๆ แล้ว ผู้ต้องขังทุกคนและผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการร่วมยืนสงบนิ่งถวายความอาลัย เป็นเวลา 89วินาที และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี สุดท้ายทรงฉายพระรูปร่วมกับข้าราชการ และผู้ให้การสนับสนุนโครงการกำลังใจฯ จากนั้นจึงเสด็จกลับเรือนจำประทับรับรอง.
 
                                                                                                         
 

รูปภาพประกอบ

โครงการกำลังใจ
ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
เลขที่ 404 กระทรวงยุติธรรม ชั้น 8 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ : 0 2142 0852
Copyright © 2016 โครงการกำลังใจ.All right reserved