เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 เวลา 13.25 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จมาทรงเป็นประธานเปิดโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ณ เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแห่งที่ 21 ของการเปิดโครงการกำลังใจในพระดำริฯ โดยมีผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมรับเสด็จ
เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเรือนจำควบคุมผู้ต้องขังซึ่งเป็นคนฝาก ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีในเขตอำนาจศาลจังหวัดกาญจนบุรี และนักโทษเด็ดขาดชายที่มีกำหนดโทษจำคุก ไม่เกิน 15 ปี และนักโทษเด็ดขาดหญิงที่มีกำหนดโทษ ไม่เกิน 15 ปี ปัจจุบันมีผู้ต้องขัง จำนวนทั้งสิ้น 3,373 ราย เป็นผู้ต้องขังชาย จำนวน 2,913 ราย ผู้ต้องขังหญิง จำนวน 461 ราย โดยส่วนใหญ่ผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมดำเนินคดีกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2563)
เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ได้ก่อตั้งมาแล้วถึง 49 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเรือนจำที่ค่อนข้างเก่าแก่ และเมื่อพิจารณาจากปริมาณผู้ต้องขังแล้ว จะเห็นได้ว่าค่อนข้างหนาแน่น โดยเรือนจำมีอัตราความจุที่รองรับได้ จำนวน 2,212 คน แต่มีผู้ต้องขัง จำนวน 3,374 คน ซึ่งเกินความจุอยู่ จำนวน 1,162 คน อนึ่ง ความแออัดในเรือนจำนั้นเป็นปัญหามาโดยตลอด และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงทราบถึงปัญหาความแออัดในเรือนจำ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแก่ผู้ต้องขังได้ โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้พระราชทานความช่วยเหลือ ให้แพทย์แผนไทยเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก ให้ผู้ต้องขังมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น และในปีต่อๆ มาโครงการกำลังใจฯ ก็ได้เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมเรื่องการฝึกอาชีพและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อทราบถึงการเข้ามาทำกิจกรรมของโครงการกำลังใจฯ ก็ได้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ภายในแดนหญิงและแดนชาย ให้ผู้ต้องขังมีพื้นที่ทำกิจกรรมการฝึกอาชีพได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
และต่อมาในปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน โครงการกำลังใจฯ มีแผนที่จะเปิดโครงการกำลังใจฯ ณ เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้สำรวจความต้องการของผู้ต้องขังเกี่ยวกับความต้องการในการฝึกวิชาชีพว่าต้องการฝึกอาชีพใด เพื่อที่เมื่อกลับคืนสู่สังคมแล้วจะเป็นอาชีพที่มั่นคงไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำถือเป็นภูมิคุ้มกันทั้งทางกายและทางจิตใจให้แก่ผู้ต้องขัง และเมื่อโครงการกำลังใจฯ ได้ทราบถึงความต้องการของผู้ต้องขัง รวมทั้งการพิจารณาความต้องการของตลาดภายนอกแล้ว จึงได้นำวิชาชีพต่างๆ เข้ามาฝึกสอนให้กับผู้ต้องขังในหลายๆ ประเภท เช่น
(1) โครงการศิลปะผ่านเส้นไหมสไตล์โครเชต์ สอนวิธีการถักพวงมาลัยและถักตุ๊กตาให้เป็นรูปแบบที่สวยงาม สามารถวางขายได้
(2) โครงการอบรมวิชาชีพการแปรรูปผ้าเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า สอนการเย็บผ้า การใช้จักรเย็บผ้า และการเลือกลายผ้ามาประกอบเป็นกระเป๋าให้ออกมาเป็นกระเป๋าที่สวยงาม
(3) โครงการฝึกอาชีพเดคูพาจ สอนวิธีการทำสบู่เดคูพาจแบบฝังลายไว้สำหรับทำเป็นของที่ระลึก
(4) โครงการให้ความรู้เรื่องสมุนไพรกับการแปรรูป สอนการทำผลิตภัณฑ์จำพวกยาหม่องน้ำและน้ำมันสำหรับนวด ที่สกัดจากสมุนไพร ได้แก่ เสลดพังพอนและไพลสด รวมถึงการสอนทำเจลแอลกอฮอล์โดยใช้สีผสมอาหารและกลิ่นสังเคราะห์ เช่น กลิ่นโอโซน กลิ่นซากุระ เป็นต้น
(5) นอกจากนี้ ยังมีโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับด้านศาสตร์พยากรณ์ เพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องดวงดาวทางโหราศาสตร์ไทยให้ผู้ต้องขังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพทางด้านการพยากรณ์ดวงชะตาได้
สำหรับการเสริมความเข็มแข็งทางจิตใจให้ผู้ต้องขัง โครงการกำลังใจฯ ได้จัดกิจกรรมอบรมงานเขียนเรื่องเล่าซึ่งผู้ต้องขังสามารถนำเสนอความคิด ความต้องการของตนเองเหมือนเปิดพื้นที่ให้ระบายสิ่งที่เป็นทุกข์หรือคับข้องใจ โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงมาช่วยสอนวิธีการเขียนเรื่องเล่าให้แก่ผู้ต้องขัง อาทิ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2536 และนายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง หรือครูวี นักเขียนประจำนิตยสารสารคดี และเป็นผู้มีชื่อเสียงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนักเขียน โดยผลงานของผู้ต้องขังที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นเขียนมีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น รักครั้งแรก ใจแตกสลาย / ความประทับใจในเรือนจำ / 20 ปี กับความโชคดี 48 เดือน / กระเป๋าหลุยส์วิตตองในแดนหญิง / โรงเรียนกำแพงสูง / Family prison (ครอบครัวจองจำ) / สู้โรค เพื่อลูก เป็นต้น
สำหรับผู้ต้องขังชายที่ โครงการกำลังใจฯทราบว่า ผู้ต้องขังสนใจการประกอบอาชีพช่าง รวมทั้งผู้ต้องขังบางรายมีอาชีพเกษตรกรจึงได้จัดหาวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์ การซ่อมเครื่องไฟฟ้าต่างๆ และการล้างรถ เป็นต้น
นอกจากมิติเรื่องการฝึกอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยสนับสนุนให้ผู้ต้องขังได้ฝึกปฎิบัติงานจริง เช่น ฝึกปฏิบัติบริเวณภายนอกเรือนจำ ณ ร้านค้าอินสไปร์ (Inspire Shop) ซึ่งเป็นร้านค้าขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี อาทิเช่น สินค้าจำพวกผ้าทอมือ สบู่กาแฟ และงานจักสาน มาวางจำหน่าย และฝึกอาชีพด้านงานบริการ เช่น การจำหน่ายเครื่องดื่ม ประเภท ชา กาแฟ เบเกอรี่ และอาหาร รวมทั้งมีบริการนวดฝ่าเท้า บริการคาร์แคร์ และบริการดูดวงจากไพ่ยิปซี อันเป็นการฝึกให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก เป็นการเตรียมพร้อมกับสู่ครอบครัวของตนเอง
ทั้งนี้ ทรงประทานกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยโปรดให้ศิลปินในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาร้องเพลงให้กำลังใจและสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ต้องขัง ด้วยพระบารมีและพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่มีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังได้รับโอกาสที่ดี ได้มีทักษะการฝึกวิชาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลังจากได้รับการพ้นโทษ รวมถึงการได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนดี ไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ด้วยพระบารมีและคุณานุปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อบุคคลทุกชนชั้น ทุกประเภท
************************************************************************