19 มี.ค. 2563
12มี.ค.63 พระเจ้าลูกเธอฯ พระราชทานเครื่องมือแพทย์ฯ ณ เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานเครื่องมือแพทย์ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้กับเรือนจำกลางเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ สำหรับเรือนจำกลางเชียงใหม่นอกจากได้ปฏิบัติตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในด้านสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังแล้ว ยังมีการดำเนินงานด้านสภาพแวดล้อม และสุขอนามัยของเรือนจำ ได้แก่การดำเนินงานด้านการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดนวัตกรรมของกรมราชทัณฑ์ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 การบำบัดน้ำเสียโดยใช้คลองส่งน้ำช่วยบำบัด โดยมีการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคของผู้ต้องขัง(Primary Treatment)และการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่นปัสสาวะอุจจาระ(Secondary Treatment) โดยได้รับการตรวจคุณภาพน้ำจากส่วนวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ผลการตรวจผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ทั้งนี้มีการนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดนำกลับมาใช้ใหม่ ในการฝึกวิชาชีพภายนอกเรือนจำ และรดน้ำต้นไม้ในเรือนจำ เป็นต้น การเสด็จแทนพระองค์ ณ เรือนจำกลางเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นเรือนจำเป้าหมายแห่งที่ 18 ซึ่งยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ โดยได้พระราชทานเครื่องมือแพทย์แก่ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่, ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ พระราชทานรถเอกซเรย์เคลื่อนที่แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ พระราชทานหนังสือเพื่อใส่ในมุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ปันสุข แก่หัวหน้าสถานพยาบาลเรือนจำกลางเชียงใหม่ และหัวหน้าสถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ในส่วนของสถานการณ์ของผู้ต้องขังเจ็บป่วยในเรือนจำกลางเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 7,076 คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมจำนวน 299 คน และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 2,303 คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมจำนวน 62 คน ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดแพรคลุมป้าย มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข ในสถานพยาบาล และทอดพระเนตรภายใน มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข ทอดพระเนตรห้องทันตกรรม ห้องตรวจตา จากนั้นเสด็จไปยังอาคารเรือนนอนผู้ต้องขังชายป่วย พระราชทานถุงพระราชทานให้กับผู้ต้องขังชายป่วย จำนวน ๖ ราย ผู้ต้องขังชราและพิการ จำนวน 20 ราย ทอดพระเนตรห้อง Telemedicine ทอดพระเนตรการสาธิตของ อสรจ.ชาย ในการช่วยเหลือผู้ป่วย จากนั้นเสด็จไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ 2 เรือนจำ 2 โรงพยาบาล และเรือนจำในเขต 5 นิทรรศการจิตอาสาเราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทอดพระเนตรการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังชาย จากนั้นเสด็จไปยังแดน 4 ทอดพระเนตรตัวอย่างการบำบัดน้ำเสียของเรือนจำในแดน 4 จากนั้นเสด็จไปยังพลับพลาพิธี ทอดพระเนตรการแสดงของผู้ต้องขัง 1 ชุด ได้แก่ อวยชัย ราชทัณฑ์ปันสุขภายหลังจากเสด็จในเรือนจำกลางเชียงใหม่แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ได้เสด็จไปยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทอดพระเนตร หน่วยบริการปฐมภูมิ สถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เครือข่ายโรงพยาบาลนครพิงค์ ทอดพระเนตรการสาธิต การคัดกรองผู้ป่วยของ อสรจ.หญิง ห้องผู้ป่วยนอกและห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน ทอดพระเนตร มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข เสด็จไปยังคลินิกทันตกรรมและห้องเอกซเรย์ฟัน ทอดพระเนตรการสาธิตด้านทันตกรรม โดยแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อสรจ. ทอดพระเนตรการสาธิต การตรวจทางจักษุ โดยแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์ และ อสรจ. ทอดพระเนตรเครื่องมือแพทย์พระราชทาน และทอดพระเนตรการสาธิตตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์ และ อสรจ. พระราชทานถุงพระราชทาน ให้กับผู้ต้องขังป่วยหญิง จำนวน 5 ราย และผู้ต้องขังสูงอายุ จำนวน 5 ราย ทอดพระเนตรการสาธิตของ อสรจ.หญิง การดูแลผู้สูงอายุ เสด็จออกจากสถานพยาบาล ไปยังลานกิจกรรม ทอดพระเนตรนิทรรศการ การจัดโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง และการแสดง Dancercise โอ้ละหนอเชียงใหม่ เสด็จออกจากลานกิจกรรม ไปยังห้องแสดงนิทรรศการฝึกวิชาชีพ ทอดพระเนตรการฝึกวิชาชีพโครงการลักษณะพิเศษบริษัท Carcel Made in Prison IVS จากนั้นเสด็จไปยังห้องแสดงนิทรรศการทอดพระเนตรนิทรรศการการฝึกวิชาชีพนวด, ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ การฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขัง เสด็จออกจากห้องแสดงนิทรรศการฝึกวิชาชีพ ไปยังโรงงานฝึกวิชาชีพทอผ้าไหม ทอดพระเนตรโครงการฝึกวิชาชีพทอผ้าไหม เสด็จออกจากโรงงานฝึกวิชาชีพทอผ้าไหม ไปยังสถานเลี้ยงเด็กโครงการกำลังใจ พระราชทานถุงพระราชทานให้กับเด็กติดผู้ต้องขัง จำนวน 3 ราย และผู้ต้องขังตั้งครรภ์ จำนวน 8 ราย การดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ในกิจกรรมต่างๆ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม ที่พยายามทำให้ผู้ต้องขังได้รับบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปและไม่ได้ให้ความสำคัญไปกับกลุ่มผู้ต้องขังมากเกินไปแต่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมที่แม้ว่าผู้ต้องขังเป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง แต่ในเรื่องความเจ็บป่วย ที่ผู้ต้องขังเผชิญอยู่ในระหว่างการคุมขังก็มีความจำเป็นที่ต้องได้รับบริการเท่ากันกับประชาชนภายนอกซึ่งจากการประเมินในภาพรวมตั้งแต่เปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุขจนถึงปัจจุบัน พบว่า ประชาชนทั่วไปต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพบว่าหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ มีความเข้าใจโครงการมากขึ้นและไม่ได้มองว่า เป็นการให้ความสำคัญกับผู้ต้องขัง แต่ต่างกล่าวเหมือนกันว่า ความเจ็บป่วยไม่มีการแยกเพศ ไม่แยกศาสนาและไม่แยกสถานภาพทางสังคม